กรณีศึกษา วิกฤติหนี้ ของประเทศลาว

กรณีศึกษา วิกฤติหนี้ ของประเทศลาว

20 ก.ย. 2020
กรณีศึกษา วิกฤติหนี้ ของประเทศลาว /โดย ลงทุนแมน
ที่ผ่านมา เราอาจได้ยินเรื่องราววิกฤติหนี้สินของหลายประเทศ
แต่ประเทศหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่ได้นึกถึง ก็คือ ประเทศลาว
รู้ไหมว่า ในตอนนี้ ประเทศลาวกำลังเจอกับปัญหาหนี้สินของประเทศที่พุ่งสูง
จนไม่สามารถชำระเงินให้เจ้าหนี้ได้ทันกำหนด
เรื่องนี้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อประเทศลาว
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร
คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศไทย
ปี 2019 ลาว มีมูลค่า GDP เท่ากับ 603,000 ล้านบาท อยู่ลำดับที่ 112 ของโลก
ขณะที่ปัจจุบัน จำนวนประชากรของประเทศลาว มีประมาณ 7.1 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรเท่ากับ 85,000 บาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย
แต่ถ้ามองย้อนกลับไป จะเห็นว่า
ในช่วงปี 2010-2019 ลาวมีอัตราการเติบโตของ GDP ประมาณ 7%
ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนลาว เพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของลาว
ตามมาด้วยภาระหนี้ของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นจากการกู้เงินมาใช้ในโครงการต่างๆ
และเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19
ก็ทำให้ภาครัฐมีรายได้ลดลงกว่าเดิม
ทั้งรายได้จากการส่งออก การเก็บภาษี และจากภาคการท่องเที่ยว
ทำให้รัฐบาลต้องหารายรับเพิ่มเพื่อมาใช้จ่ายในเรื่องจำเป็น ด้วยการกู้เงินเพิ่มขึ้นอีก
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ประเทศลาว เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปี
ปี 2010 ภาระหนี้สาธารณะของลาวเท่ากับ 115,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49% ของ GDP
ปี 2020 ภาระหนี้สาธารณะของลาวเท่ากับ 393,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 65% ของ GDP
ด้วยภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของลาว ณ ปัจจุบัน ก็ลดลงจนเหลือเพียง 26,000 ล้านบาท ทำให้สถานะการเงินของประเทศลาวเริ่มน่าเป็นห่วง
นอกจากนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง
ยังทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในประเทศลาวตามไปด้วย
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลลาวกู้เงินมาทำอะไร
ที่ทำให้หนี้สาธารณะในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก?
ก่อนจะไปตอบคำถามนี้
เรามาเข้าใจลักษณะทางภูมิศาสตร์ของลาวกันก่อน
แม้ว่าลาวจะเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตภูเขาและเขตที่ราบสูง
ซึ่งก่อให้เกิดเป็นแม่น้ำสายสำคัญหลายสาย
โดยภูมิประเทศลักษณะนี้ คิดเป็น 3 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศลาวทั้งหมด
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้ประเทศลาว
มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ
รัฐบาลลาว จึงวางสถานะของประเทศให้เป็น “Battery of Asia”
และกู้เงินจำนวนมาก มาผลักดันการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
นอกจากนั้นแล้ว ประเทศลาวยังให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการ One Belt One Road ของจีน
ซึ่งจะช่วยให้ลาวเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้ง่ายขึ้น
โดยเฉพาะโครงการเส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 187,000 ล้านบาท
ถึงตรงนี้ ก็คงจะเดากันออกแล้วว่า
คนที่ให้เงินกู้กับประเทศลาวมากที่สุดก็คือ “ประเทศจีน”
เฉพาะหนี้ที่รัฐบาลลาวกู้ยืมมาจากจีน
มีมูลค่าสูงถึง 271,000 ล้านบาท
ซึ่งเงินจำนวนนี้ คิดเป็นกว่า 45% ของ GDP ประเทศลาว
พอเกิดเหตุการณ์การระบาดของ COVID-19
จนทำให้ลาว อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
รัฐบาลลาวจึงต้องเจรจากับรัฐบาลจีนในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่
เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ที่กู้ยืมมา
ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงระหว่างรัฐบาลลาวกับรัฐบาลจีน
คือรัฐบาลลาว จะต้องขายหุ้นของธุรกิจสายส่งไฟฟ้าของ Électricité du Laos (EDL) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าของลาว
ให้แก่ China Southern Power Grid ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไฟฟ้ารายใหญ่ของรัฐบาลจีน
จากเรื่องนี้ ก็ทำให้เห็นว่า
การก่อหนี้ที่มากเกินไป มันมีความเสี่ยงสูง
ถ้าวันหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามกำหนด
ก็อาจต้องแลกกับการสูญเสียของสำคัญที่เป็นของเราให้กับเจ้าหนี้
เหมือนในกรณีนี้ของประเทศลาว..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://thediplomat.com/2020/09/laos-stumbles-under-rising-chinese-debt-burden/
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://www.theglobaleconomy.com/Laos/reserves_monthly/
-https://countryeconomy.com/national-debt/laos
-https://www.ft.com/content/dc3f5981-4fd9-4e3a-9824-5b9ddf70735e?sharetype=blocked
-https://www.voanews.com/east-asia-pacific/analysts-rising-debt-burden-could-make-laos-more-reliant-china
-https://data.worldbank.org/country/LA
-http://www.xinhuanet.com/english/2020-08/07/c_139273117.htm
-https://tradingeconomics.com/laos/government-debt-to-gdp
-https://thailandtribune.com/financially-strapped-laos-partners-with-chinese-company-to-manage-power-grid/
-https://en.wikipedia.org/wiki/%C3%89lectricit%C3%A9_du_Laos
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.