กรณีศึกษา การแก้ไขปัญหา “รถเก่า” ของไทย เทียบกับ ต่างประเทศ

กรณีศึกษา การแก้ไขปัญหา “รถเก่า” ของไทย เทียบกับ ต่างประเทศ

14 ธ.ค. 2020
กรณีศึกษา การแก้ไขปัญหา “รถเก่า” ของไทย เทียบกับ ต่างประเทศ / โดย ลงทุนแมน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “รถเก่า” ที่มีอายุการใช้งานนานๆ
เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนน
และปัญหามลพิษทางอากาศ อย่างฝุ่น PM2.5 ที่เริ่มกลับมาเกินค่ามาตรฐานอีกครั้ง
พอเป็นแบบนี้ รัฐบาลในหลายประเทศจึงเริ่มตั้งคำถามว่า
จะทำอย่างไร ให้รถเก่าที่วิ่งบนท้องถนนมีจำนวนลดลง
แล้วภาครัฐของไทย กับ หลายๆ ประเทศ มีวิธีรับมือและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้กันอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จากสถิติการขนส่ง ปี 2562 ของกรมการขนส่งทางบก
ประเทศไทยมีจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง และรถบรรทุกส่วนบุคคล (Pick-up) ที่ใช้งานอยู่บนท้องถนน รวมทั้งสิ้น 16.8 ล้านคัน
ที่น่าสนใจก็คือ ในจำนวน 16.8 ล้านคัน
เป็น “รถยนต์เก่า” ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี
เป็นจำนวนมากกว่า 4 ล้านคัน หรือคิดเป็นกว่า 24% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ปัญหานี้ หลายๆ ประเทศก็เจอเหมือนกัน
และแต่ละประเทศก็มีโครงการหรือนโยบายในการควบคุมและแก้ไขที่ต่างกันไป
ยกตัวอย่างเช่น
- สหรัฐอเมริกา
เคยมีโครงการ ชื่อว่า Car Allowance Rebate System (CARS)
โดยรัฐบาลจะมอบหมายให้บริษัทตัวแทน เป็นผู้รับซื้อรถเก่าที่เป็นไปตามเงื่อนไข
ซึ่งเงื่อนไขหลักๆ คือ มีอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปี และอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้
โดยเจ้าของรถจะได้รับเงินจากการนำรถเก่ามาเข้าร่วมโครงการ
เฉลี่ยประมาณ 70,000 - 150,000 บาท ต่อคัน
แล้วตัวแทน จึงค่อยส่งเรื่องเพื่อขอรับเงินจากรัฐบาลในภายหลัง
- ญี่ปุ่น
เคยมีโครงการชื่อว่า The “Green” Vehicle Purchasing Promotion Measures
คือสนับสนุนให้ประชาชนนำรถเก่า อายุไม่ต่ำกว่า 13 ปี มาแลกซื้อรถใหม่
โดยถ้ารถยนต์ที่ต้องการซื้อ เป็นรถยนต์ขนาดเล็ก
ผู้ร่วมโครงการจะมีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนลดประมาณ 87,000 บาท
ส่วนรถขนาดเล็กกว่านั้น จะได้รับส่วนลดประมาณ 43,000 บาท
- มหานครปักกิ่งของ จีน
เนื่องจากจีน เป็นประเทศที่มีปัญหามลภาวะเป็นพิษอย่างหนักโดยเฉพาะในปักกิ่ง
ทำให้เทศบาลมหานครปักกิ่งออกนโยบายกำจัดรถยนต์ที่เก่าเกินกว่า 6 ปี
โดยการให้เงินสนับสนุน 2,500 - 14,500 หยวน หรือประมาณ 12,500 - 72,500 บาท แก่เจ้าของรถเก่า ที่สมัครใจซื้อรถใหม่
สำหรับรถที่ไม่เข้าร่วมโครงการแต่อยู่ในเกณฑ์ที่ควรกำจัด จะได้รับป้ายเหลือง ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเข้าไปวิ่งในเขตที่ทางเทศบาลจำกัดไว้ได้
สำหรับประเทศไทย
ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการเผยรายละเอียดเบื้องต้นของโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน
คือให้นำรถเก่าที่มีอายุการใช้งาน “12 ปีขึ้นไป”
มาแลกซื้อเป็นรถใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เช่น รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV), รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV)
หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV)
โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อรถใหม่
จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ ได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อคัน
(แต่ล่าสุด โครงการนี้ถูกเลื่อนออกไปก่อน ด้วยความไม่พร้อมในหลายประเด็น)
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วซากรถเก่า จะถูกนำไปทำอะไรต่อ?
คำตอบก็คือ ซากรถเก่าเหล่านี้ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกำจัดซากอย่างถูกวิธี
ในหลายประเทศ เช่น เมืองคิตะกีวชู ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อกำจัดขยะและของเสียขึ้นมา เพื่อทำการรีไซเคิลของเก่า รวมถึงซากรถเก่า
ในบรรดาซากของเก่า ซากรถเก่าถือว่ามีศักยภาพสูงในการนำกลับมาใช้ใหม่ และการแยกชิ้นส่วนรถยนต์ก่อนรีไซเคิล เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในการจัดการซากรถ
โดยซากรถเก่าหนึ่งคัน จะมีโลหะที่เป็นเหล็กประมาณ 69%
เหล็กเหล่านั้นจะถูกคัดแยกเพื่อนำมาหลอม และปรุงแต่งให้มีความบริสุทธิ์ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่
ส่วนอะไหล่และเครื่องยนต์ ที่มีสภาพสมบูรณ์ จะถูกคัดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่
และชิ้นส่วนที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น พลาสติก วัสดุยาง รวมถึงชิ้นส่วนอื่นๆ
จะถูกคัดแยกและนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน ซึ่งถือเป็นการกำจัดซากรถแบบครบวงจร
แต่สำหรับประเทศไทย ยังมีเพียงผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นที่สามารถรีไซเคิลเหล็กจากซากรถยนต์ได้เพราะกฎหมายของประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมการจัดการรถยนต์เก่าและซากรถอย่างครบวงจร
สรุปแล้ว มาตรการ นโยบาย หรือโครงการ
ในการควบคุมปริมาณรถเก่าของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไป
แต่จุดประสงค์ในการดำเนินนโยบายก็จะคล้ายๆ กัน คือเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
ประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือ
แต่ละประเทศ จริงจังกับการควบคุมรถเก่า มากแค่ไหน?
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-รายงานสถิติการขนส่ง ประจําปี 2562 กรมการขนส่งทางบก
-โครงการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ปริมาณรถยนต์ที่สิ้นสุดการใช้งานในประเทศไทย เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดการกับซากยานยนต์เก่า โดย อ.ดร.จิราภรณ์ คำวรรณะ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-https://www.thairath.co.th/news/business/1983056
-http://recycle.dpim.go.th/wastelist/waste-detail.php?id=27
-https://sdgs.un.org/sites/default/files/2020-09/kitakyushu-sdg-report-en-2018.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.