รู้จัก โออาร์ Flagship ด้านธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของ กลุ่ม ปตท. ที่เตรียม IPO

รู้จัก โออาร์ Flagship ด้านธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของ กลุ่ม ปตท. ที่เตรียม IPO

22 ธ.ค. 2020
รู้จัก โออาร์ Flagship ด้านธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของ กลุ่ม ปตท. ที่เตรียม IPO
โออาร์ X ลงทุนแมน
วันนี้หากเราเข้าไปในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station หลายคนคงรู้สึกว่าเป็นอะไรที่มากกว่าสถานีบริการน้ำมัน เพราะเราสามารถใช้บริการได้หลากหลายไม่ใช่แค่เติมน้ำมันอย่างเดียว เพราะวันนี้ โออาร์ มาพร้อมกับโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า Retailing Beyond Fuel ที่สามารถเติมเต็มความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบครัน
หากอยากดื่มกาแฟก็มี Café Amazon
อยากทานอาหารอร่อยๆ ก็มี Texas Chicken ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ และแบรนด์อื่นๆ อีกมาก
หรือหากรถเรามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ต้องการตรวจเช็คเครื่องยนต์ หรือเปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่นก็มีศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto ไปจนถึงบริการที่ตอบโจทย์เทรนด์พลังงานและยานพาหนะแห่งอนาคตกับ EV Charging Station
ที่กล่าวมาคือตัวอย่างบางธุรกิจของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” ซึ่งแยกออกมาจาก ปตท. ที่คนไทยทั่วประเทศคุ้นเคย
แล้วรู้หรือไม่ โออาร์ ก็ยังมีธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายที่เราอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน
โดยแต่ละธุรกิจนั้น ก็จะผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ
เพื่อให้บริษัทแห่งนี้ “เป็นมากกว่าบริษัทที่ขายน้ำมัน”
ส่วนความน่าสนใจ ก็คงหนีไม่พ้นความเคลื่อนไหวล่าสุดของบริษัทแห่งนี้
ที่กำลังเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกหรือ IPO
ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แล้วเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา
คำถามก็คือ..แล้วธุรกิจของ โออาร์ มีอะไรบ้าง?
จนถึงแนวคิดการทำธุรกิจของบริษัทแห่งนี้เป็นอย่างไร?
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามารู้จัก โออาร์ กันก่อนว่าบริษัทแห่งนี้มีธุรกิจอะไรบ้าง
โดยแบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก
1. กลุ่มธุรกิจน้ำมัน: ปัจจุบัน โออาร์ มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station กว่า 1,900 สาขาทั่วประเทศ**
โดยแบ่งเป็นการลงทุนและดำเนินการโดยผู้แทนจำหน่ายหรือ DODO ประมาณ 80% และที่บริษัทลงทุนและดำเนินการเองหรือ COCO อีกประมาณ 20%
โออาร์ ครองส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกน้ำมันอันดับ 1 มีส่วนแบ่งตลาด 38.9%*
ด้วยจุดขายคือ เป็นผู้นำในการพัฒนารูปแบบของสถานีบริการน้ำมัน ให้มีสินค้าและบริการที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างครบวงจร และยังเป็นผู้นำในการคิดค้นและพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง จนถึงการมีน้ำมันเชื้อเพลิงที่พัฒนาจากพลังงานทดแทนให้ลูกค้าได้เลือกมากมาย ประกอบกับการเพิ่มการให้บริการชาร์จไฟฟ้าให้แก่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สอดคล้องการเทรนด์ของโลกที่กำลังมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน โออาร์ ยังมีการขายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ ในลักษณะ B2B ให้แก่ลูกค้าต่างๆ รวมกันกว่า 2,600 ราย* ได้แก่ ลูกค้าภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม การจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas หรือ LPG) ให้กับลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และภาคครัวเรือน ภายใต้แบรนด์ ก๊าซหุงต้ม ปตท. โดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ
ด้วยการมีสเกลธุรกิจขายน้ำมันและพลังงานใหญ่ถึงเพียงนี้
ก็ย่อมหมายถึง ต้องมีระบบรองรับในการบริหารจัดการที่แข็งแกร่ง
ก็เลยทำให้วันนี้ โออาร์ มีคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 53 แห่งกระจายไปยังทำเลสำคัญๆ ทั่วประเทศ**
พร้อมด้วยระบบขนส่งมากมายทั้งทางท่อขนส่ง ทางเรือ ทางรถ และทางรถไฟ โดยมีการควบคุมอย่างรัดกุมเพื่อความปลอดภัย
นับเป็นแต้มต่อที่ได้เปรียบกว่าคู่แข่งขึ้นมาในทันที
ซึ่งการมีระบบขนส่งที่หลากหลาย ทำให้บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ: ธุรกิจกลุ่มนี้เกิดจากแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงภาพของสถานีบริการน้ำมันที่ไม่ใช่แค่การเติมน้ำมันอย่างเดียว
แต่ผู้บริโภคสามารถใช้บริการอื่นๆ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันตัวเองได้
เลยเป็นที่มาของธุรกิจร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหารและเครื่องดื่ม
ที่มีสารพัดแบรนด์มากมายทั้งแบบพัฒนาเองและแบบได้รับสิทธิแฟรนไชส์
เช่น ร้าน Café Amazon, ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในสถานีบริการ และ Jiffy ร้านไก่ทอด Texas Chicken, ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ เป็นต้น
ที่น่าสนใจ คือ ร้าน Café Amazon ที่ทาง โออาร์ สร้างมากับมือกำลังโตได้เกินคาด
เพราะรู้หรือไม่..ปัจจุบันร้านกาแฟแห่งนี้มีมากกว่า 3,400 สาขาทั้งในและต่างประเทศ** ขึ้นแท่นเป็นเชนร้านกาแฟใหญ่อันดับ 6 ของโลกตามจำนวนสาขา*
นอกจากนี้ สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ก็ยังมีการเปิดให้แบรนด์อื่นๆ เข้ามาเช่าพื้นที่ขายในสถานีตัวเอง อย่างเช่น KFC, Burger King, Pizza Hut
จะเห็นว่า กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ ของ โออาร์ สร้างรายได้จากหลายช่องทาง
และที่สำคัญคือ Blue Card ซึ่งมีฐานสมาชิกประมาณ 6.7 ล้านราย** เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความผูกพันและนำไปสู่การออกแบบเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภคเป็นการรายบุคคล (Individualized Customer Experience) ผ่านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Analytics) จึงทำให้ โออาร์ สามารถพัฒนาสินค้า บริการ ให้ตรงโจทย์เฉพาะบุคคลดียิ่งขึ้นไปอีก ผลที่ตามมาก็คือการมีรายได้ (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) จากกลุ่มธุรกิจนี้เติบโตเฉลี่ยปีละ 12.3% ในปี 2560 - 2562
ส่วนกำไร ก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) ของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ
ปี 2560 อยู่ที่ 3,626 ล้านบาท
ปี 2562 อยู่ที่ 4,255 ล้านบาท
3. ธุรกิจต่างประเทศ: รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน โออาร์ มีธุรกิจ Oil และ Non-oil
ไปไกลถึง 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น โดยการเลือกธุรกิจ Oil และ Non-Oil เพื่อขยายไปในแต่ละประเทศนั้น โออาร์ จะพิจารณาจากความเหมาะสมในการเข้าไปเจาะตลาดในแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจุบัน โออาร์ มีรากฐานทางธุรกิจที่มั่นคงในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว ที่ โออาร์ ได้ผสมผสานธุรกิจทั้ง Oil และ Non-Oil ในรูปแบบ Retailing Beyond Fuel อย่างลงตัว
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศนั้น มีทั้งแบบที่ โออาร์ เป็นผู้ดำเนินงานเอง
ส่วนอีกแบบก็คือให้บริษัทย่อยที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินงาน
โดยปัจจุบันก็มีหลายแบรนด์เลยทีเดียว ที่ขยายไปยังต่างประเทศ
ถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ว่าธุรกิจของ โออาร์ ครอบคลุมมากกว่าที่เราคิดไว้เยอะ
คำถามที่ตามมาคือ แล้วความครอบคลุมนี้มีข้อดีต่อกลยุทธ์ในการต่อยอดธุรกิจอย่างไร
เรื่องนี้ มันก็คงสะท้อนจากแนวคิดการทำธุรกิจที่แบ่งออกเป็น 3 ข้อใหญ่ๆ
● Greater Expansion: ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และลงทุนในธุรกิจใหม่หรือแบรนด์ใหม่ผ่านการเข้าซื้อกิจการหรือการร่วมลงทุน
● Greater Product & Services: ต่อยอดสินค้าและบริการที่มีอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อกระตุ้นให้ยอดใช้จ่ายต่อบิลจนถึงจำนวนครั้งที่ใช้จ่ายของลูกค้าเพิ่มขึ้น เช่น บริการแบบ online-to-offline experience
● Greater Business Operations: เพิ่มศักยภาพการบริหารต้นทุนธุรกิจให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น การสร้างโรงงานเบเกอรี่ โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม และศูนย์กระจายสินค้าใหม่ และต่อยอดประสบการณ์ ความน่าเชื่อถือและเครือข่ายธุรกิจในฐานะหนึ่งใน Flagship ของ กลุ่ม ปตท.
ทั้งหมดนี้คือวิธีคิดในการสร้างรายได้และกำไรอย่างยั่งยืนของ โออาร์ แต่สิ่งสำคัญคือ โออาร์ ไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตเฉพาะทางธุรกิจ แต่ยังเชื่อในพลังแห่งความร่วมมือเพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกันกับสังคม ชุมชน ลูกค้า และคู่ค้าอย่างยั่งยืน โดยริเริ่มดำเนินหลายโครงการจนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการไทยเด็ด โครงการ Café Amazon for Chance ไปจนถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่าง โครงการ Café Amazon Circular Living ควบคู่กับการยึดมั่นในธรรมาภิบาล นั่นจึงทำให้ โออาร์ ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
เมื่อเราเห็นภาพ โออาร์ ในทุกๆ มิติอย่างชัดเจน
ก็คงต้องติดตามดูต่อไปว่า เมื่อมีการเปิดเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน IPO ให้ประชาชนทั่วไป
ได้ลงทุนใน #หุ้นโออาร์ นั้นจะได้รับผลตอบรับดีแค่ไหน แต่ในวันนี้ก็คงต้องบอกว่าเป็นบริษัทที่น่าจับตาบริษัทหนึ่งเลยทีเดียว..
#โออาร์ #OR #หุ้นโออาร์
*ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
**ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563
References
-เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
-https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=293650 [ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563]
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.