กรณีศึกษา เส้นทางการเติบโตของ LINE SHOPPING ที่น่าจับตามอง

กรณีศึกษา เส้นทางการเติบโตของ LINE SHOPPING ที่น่าจับตามอง

18 พ.ค. 2021
กรณีศึกษา เส้นทางการเติบโตของ LINE SHOPPING ที่น่าจับตามอง
LINE SHOPPING X ลงทุนแมน
47 ล้านคน คือจำนวนผู้ใช้ LINE ในประเทศไทย

ตัวเลขนี้ กำลังบอกกับเราว่า LINE ได้กลายเป็น App Chat แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย
ทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด
และที่สำคัญคือ “ทุกเวลา”

แต่ในคำว่า “ทุกเวลา” หลายคนอาจยังไม่รู้
จริง ๆ แล้ว LINE ยังมีอีกหนึ่งแพลตฟอร์ม ที่กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ
นั่นคือ LINE SHOPPING โดยภายในเวลาแค่ 2 ปี มีจำนวนผู้ใช้เติบโตขึ้นถึง 2 เท่า

ความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือหากเทียบกับ E-Commerce ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ในบ้านเรา
LINE SHOPPING ไม่ค่อยโฆษณาและทำตลาดเชิงรุกมากนัก
แต่ก็ยังมีตัวเลขเติบโตได้อย่างน่าสนใจ

คำถามก็คือแล้ว LINE SHOPPING สร้างความต่างจาก E-Commerce เจ้าอื่น ๆ อย่างไร
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง

เราเคยสังเกตบ้างไหม LINE เป็นเสมือนความคุ้นเคยบนโทรศัพท์มือถือของเรา
ตื่นเช้ามาก็ต้องดู Chat, หากหิวก็สั่ง LINE MAN, อยากนอนดูซีรีส์ละครก็ LINE TV

จะเห็นว่าวิธีคิดของ LINE คือทำให้คนไทยใช้เวลากับแพลตฟอร์ม LINE ให้มากที่สุด
ด้วยการสร้าง Life Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานชีวิตประจำวันบนโลกออนไลน์
แล้วหนึ่งในพฤติกรรมที่คนไทยต้องทำเกือบทุกวันก็คือ “ช็อปออนไลน์” นั่นเอง

ความน่าสนใจมันเลยมาอยู่ตรงนี้ โดยช่วงที่ผ่านมา LINE ได้ล่วงรู้พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ
เพราะรู้หรือไม่ว่า ในโลกของธุรกิจ E-Commerce ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด
กว่า 60% จะมาปิดการขายกันที่ Social Commerce

อธิบายสั้น ๆ ก็คือหาก 100 คนซื้อสินค้าในออนไลน์
จะมีถึง 60 คนเลยทีเดียว ที่จะมาสนทนา, ตกลงราคา, โอนเงิน, แจ้งสลิปส่งสินค้า
ผ่านทาง IG, Facebook และ LINE นั่นเอง

สรุปก็คือ LINE มองว่า Social Commerce เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการช็อปปิงของคนไทยไปแล้ว

ทีนี้ LINE ก็มองว่าตัวเองถือเป็นส่วนสำคัญในโลกของ E-Commerce ที่เติบโต
แล้วทำไม LINE ไม่ทำให้ตัวเองกลายเป็นสังคมขนาดใหญ่ในการซื้อ-ขายสินค้า
ก็เลยเป็นที่มาของ LINE SHOPPING ที่เป็น Social Commerce อย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

โดยมีเป้าหมายช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของคนขายออนไลน์มือสมัครเล่น, ธุรกิจขนาดเล็ก
ไปจนถึงแบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งนั่นแปลว่า LINE SHOPPING ก็จะมีสินค้าให้เลือกช็อปสารพัดมากมาย จากการรวบรวมร้านค้าที่ใช้ LINE ในการขายอยู่แล้ว

ที่น่าสนใจคือ LINE SHOPPING ถือเป็นพื้นที่รวมดีลร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ
ให้คนสามารถค้นหาร้านค้าและช็อปได้ง่าย ๆ และทุก ๆ ครั้งในการช็อป
ก็จะมีการแจก LINE POINTS ที่ให้ลูกค้าสะสมโดย 1 POINT = 1 บาท
เพื่อใช้เป็นส่วนลดในการช็อปครั้งต่อ ๆ ไป

ฟังดูผิวเผินอาจไม่เห็นความแตกต่างหากเทียบกับ E-Commerce ยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ
เพียงแต่.. จุดตัดมันอยู่ตรงนี้ต่างหาก

อย่างแรกที่เห็นชัดเจนสุดคือในขณะที่ E-Commerce ยักษ์ใหญ่มีเว็บไซต์และ App เป็นของตัวเอง
เพื่อให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลด แต่สำหรับ LINE SHOPPING เลือกจะตัดวงจรนี้ทิ้งออกไป

แล้วเลือกจะฝังตัวอยู่ในหน้า Wallet Tab ใน App ของ LINE
ที่ทุกคนก็น่าจะมีติดอยู่ในเครื่องโทรศัพท์มือถือกันอยู่แล้ว

และนี่ก็เป็นที่มาของความ “ต่าง” ที่สอง
ปฎิเสธไม่ได้ว่าคนไทยทุกคนที่โหลด App LINE ก็เพื่อแช็ตสนทนาเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน
หนึ่งในนั้นก็คือการเจรจาซื้อ - ขายสินค้า หรือที่เรียกว่า Chat Commerce
ก็เลยทำให้ตอนนั้น LINE พัฒนาฟีเจอร์การใช้งานเกี่ยวกับซื้อ - ขาย
ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความนิยมอย่างสูง

จากนั้นก็พัฒนา MyShop ที่มีฟีเจอร์มากมายเพื่อเป็นตัวช่วยร้านค้าให้สะดวกสบายในการทำธุรกิจ
เป้าหมายก็เพื่อให้ LINE SHOPPING กลายเป็นศูนย์รวมแหล่งร้านค้านั่นเอง

จะเห็นว่า LINE SHOPPING เลือกจะพัฒนาหลาย ๆ อย่าง
เพื่อไปเสริม “จุดแข็ง” ตัวเองคือ Chat Commerce ซึ่งก็ถือว่าเป็นอะไรที่มาถูกทาง

แล้วหากสรุปข้อดีโมเดลธุรกิจ LINE SHOPPING ก็น่าจะมี 3 ข้อหลัก ๆ

1.ไม่ได้จำกัดแค่อยู่ในแพลตฟอร์มตัวเองแต่เป็นเครื่องมือให้ผู้ที่ขายใน LINE, Facebook, IG อยู่แล้วสามารถขายสินค้าได้สะดวกและง่ายขึ้นผ่านทาง LINE SHOPPING ซึ่งก็อยู่ใน Wallet Tab ของ LINE
ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องโหลด App ใหม่

2. แล้วการมี LINE SHOPPING อยู่ในหน้า Wallet Tab ก็ทำให้นักช็อปเจอร้านค้าต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

3. การผสมผสานจุดแข็งของ Social Network เข้ากับจุดแข็งของ E-commerce

หากสังเกต LINE SHOPPING นำเรื่อง Points, Coupons,
จนถึงการนำระบบสั่งซื้อใน E-commerce มาใช้ในแพลตฟอร์มตัวเอง
ข้อดีคือร้านค้าไม่จำเป็นต้องส่งออเดอร์ลูกค้าไปที่ Marketplace อื่น ๆ
ซึ่งจะทำให้เสียค่าคอมมิชชันอีกต่อหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้ Marketplace ทำหน้าที่ในการหาลูกค้าให้ร้านค้าได้อย่างเต็มตัวแทน

ส่วนอีกข้อที่เป็นเอกลักษณ์ของ LINE SHOPPING ที่ไม่มีใครเลียนแบบได้ก็คือ “ปฏิสัมพันธ์เชิงบวก”
เคยสังเกตกันบ้างไหม ทุกครั้งที่เราแช็ต LINE คุยกับใครสักคน
เราจะรู้สึกให้ความสนใจคนที่เราสนทนาด้วยเป็นพิเศษหากเทียบกับการแช็ตในช่องทางอื่น ๆ

ก็ไม่ต่างกันหากเราเป็นคนซื้อสินค้าใน LINE SHOPPING ก็จะรู้สึกเป็นกันเองกับร้านค้า
ผลดีก็คือร้านค้าปิดการขายได้ง่าย แถมลูกค้ายังรู้สึกเสมือนร้านค้าเป็นเพื่อนมากกว่าขายสินค้าให้กัน
สิ่งที่ร้านค้าได้ก็คือ มิตรภาพและความไว้ใจของลูกค้า

สังเกตุได้ว่าเราจะจำชื่อร้านค้าที่เราซื้อด้วยใน LINE ได้มากกว่าเวลาเราซื้อจากเว็บไซท์ E-commerce Marketplace เหมือนกับเราได้พูดคุยและซื้อจากร้านค้าโดยตรง มากกว่าซื้อผ่านห้าง

นั่นก็เพราะพื้นฐานของ Social ที่เป็นแพลตฟอร์มให้เราได้มีการพูดคุยสื่อสารกันผ่าน Content
จนทำให้เกิด Influencers ในยุคปัจจุบัน
ต่างจาก Marketplace ที่เป็นเหมือนห้างที่ต้องการให้เรารู้สึกว่าได้ซื้อจากห้างมากกว่า นั้นเอง

ผลที่ตามมาคือ ลูกค้าก็จะกลับมาซื้อสินค้าซ้ำเรื่อย ๆ เป็นการรักษาฐานลูกค้าเก่า
ที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่ามาก หากเทียบกับการไปค้นหาลูกค้าใหม่ ที่ต้องใช้เงินเพื่อทำตลาดใหม่นั่นเอง

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้ LINE SHOPPING สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
จนเวลานี้ครบรอบ 2 ปี มีจำนวนร้านค้ากว่า 1 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้งาน 6 ล้านคนต่อเดือน

แต่จริง ๆ แล้วหากนับจำนวนคนไทยที่เคยใช้ LINE SHOPPING
ทั้งการกดจาก service icon หน้า Wallet จนถึงจากช่องทางอื่น ๆ ที่ร้านค้าเอาไปโปรโมตแล้วแนบลิงก์เพื่อมาจบการขายใน LINE SHOPPING มีจำนวนถึง 9 ล้านรายเลยทีเดียว

ในความสำเร็จของ LINE SHOPPING ณ วันนี้
ในมุมของ ลงทุนแมน ความน่าสนใจมันเพิ่งจะเริ่มต้นต่างหาก

ถ้าถามว่าหัวใจของธุรกิจบนโลกดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นโมเดล Social Media, Subscription
หรือแม้แต่ Social Commerce คนที่ได้เปรียบที่สุด
ก็คือคนที่สามารถสร้างแพลตฟอร์มที่มีผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่

หรือพูดง่าย ๆ ใครที่สร้างสถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้คน คนนั้นย่อมมีโอกาสที่ดีกว่า

แล้ว LINE ในประเทศไทย ก็มีตรงนี้อย่างสมบูรณ์แบบ
ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ใช้งาน 47 ล้านคน
จนถึง Ecosystem อื่น ๆ ของตัวเอง เช่น LINE TV และ LINE MAN ที่มีจำนวนผู้ใช้หลายล้านคนเช่นกัน

สิ่งที่น่าคิดต่อมาก็คือในอนาคต LINE SHOPPING จะทำอย่างไร
ให้ตัวเองสามารถเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้
เพราะอย่าลืมว่า LINE SHOPPING นั้นฝังตัวเป็นส่วนหนึ่งของ App Chat
ต่างจาก LINE TV และ LINE MAN ที่เริ่มด้วยการเป็น Application ที่แยกออกมาต่างหาก

ขณะเดียวกัน LINE SHOPPING ก็จะพัฒนาให้การซื้อ - ขาย ง่ายขึ้น

ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ ณ วันนี้เราเห็น E-marketplace ออกเครื่องมือโฆษณาเพื่อทำเงินจากร้านค้า
โจทย์คือ LINE ที่มีธุรกิจเกี่ยวกับการโฆษณาและ Business Model นี้อยู่แล้ว
จะพัฒนาช่องทางหารายได้นี้อย่างไร

และถ้าทำสำเร็จเมื่อถึงวันนั้น LINE SHOPPING
ก็อาจกลายเป็น Social Commerce ที่ทรงอิทธิพลในเมืองไทย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าติดตามต่อไปนี้ก็คือ LINE SHOPPING จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้ดีแค่ไหน
ในวันที่ E-Commerce ยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ ไม่มีเหมือนกับตัวเอง

ที่สำคัญหาก LINE SHOPPING ทำให้ Social Commerce ของตัวเอง
เป็นส่วนหนึ่งในการช็อปปิงประจำวันของคนไทยได้สำเร็จ
ก็จะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมหาศาล
เมื่อถึงวันนั้น ระบบเศรษฐกิจไทย ก็จะถูกอัปเกรดความแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยอัตโนมัติ..

References:
-ข้อมูลจากบริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด
-ฝ่ายธุรกิจ E-Commerce LINE ประเทศไทย
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.