กรณีศึกษา ข้อมูลส่วนตัว กำลังถูกโจรกรรมโดยไม่รู้ตัว

กรณีศึกษา ข้อมูลส่วนตัว กำลังถูกโจรกรรมโดยไม่รู้ตัว

10 มิ.ย. 2021
กรณีศึกษา ข้อมูลส่วนตัว กำลังถูกโจรกรรมโดยไม่รู้ตัว /โดย ลงทุนแมน
โลกมีประชากร 7,830 ล้านคน มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 4,660 ล้านคน
หรือ 60% จากประชากรทั้งหมด
ประเทศไทยมีประชากร 69.9 ล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 48.6 ล้านคน
หรือ 70% จากประชากรทั้งหมดของประเทศ
ตัวเลขนี้กำลังบอกกับเราว่ามนุษย์บนโลกกำลังค่อย ๆ เดินทางเข้าสู่โลกดิจิทัลเต็มใบ
แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราอาจไม่รู้ตัวหรืออาจรู้ตัวแต่ก็ยินยอมอย่างไม่มีเงื่อนไข
นั่นคือข้อมูลส่วนตัวของเราที่เคยหวงแหน เมื่อเข้าสู่สารพัดช่องทางในโลกออนไลน์
ได้ถูกจัดเก็บเพื่อนำไปขายต่อให้แก่นายหน้าค้าข้อมูล หรือเรียกว่า Data Broker
จากนั้น Data Broker ก็นำไปขายต่อให้แก่บริษัทต่าง ๆ
เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจ
ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องนี้มันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นมานานมากแล้ว
แล้วประเทศไทย มีกฎหมายคุ้มครองเรื่องเหล่านี้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ คงต้องย้อนกลับไปในยุคที่เราเริ่มใช้อินเทอร์เน็ต
ผ่านคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ก หรือสมาร์ตโฟน ที่เราจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ท่องไปในเว็บไซต์ต่าง ๆ
โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า เซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์ที่เราเข้าไปเยี่ยมชมนั้น
ได้บันทึกข้อมูลการท่องโลกอินเทอร์เน็ตของเรา บันทึก IP Address รวมไปจนถึงประวัติการใช้งาน
เมื่อได้สารพัดข้อมูลของเรา ก็จะนำไปวิเคราะห์สิ่งที่เราสนใจ
จากนั้นก็จะส่งโฆษณาหรือสิ่งที่คิดว่าเราสนใจไปยัง Email
ทำให้หลาย ๆ ครั้ง เราก็ยังงง ๆ ว่า รู้ได้ไงว่าเราสนใจสินค้าหรือบริการนี้
แถมยังรู้ Email ของเราอีกต่างหาก
จนมาถึงยุค Social Network ครองโลก ข้อมูลส่วนตัวเราก็เหมือนเป็นขุมทรัพย์
และคำว่า “ส่วนตัว” ก็แทบจะหายไปในทันที
คิดง่าย ๆ แค่เรื่องใกล้ตัวเรา อย่างการสมัครบัญชี Facebook, LINE, Twitter และอื่น ๆ
เมื่อเรากรอกข้อมูลต่าง ๆ ในการสมัคร ก็เหมือนเรายินยอมเปิดเผยหรืออนุญาต
ให้รับรู้ข้อมูลส่วนตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นระหว่างที่เราเพลิดเพลินกับการเล่น Social Network เหล่านี้
ก็จะมี คุกกี้ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเรา พร้อมส่งโฆษณาสินค้า
ตามมาหลอกหลอนชนิดคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
รวมไปถึงบรรดาแอปพลิเคชันช็อปปิงออนไลน์ และฟูดดิลิเวอรี ที่เราโหลดมาใช้กัน เราก็ต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลด้วยเช่นกัน
แล้วรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยจะมีกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
หรือเรียกว่า PDPA (Personal Data Protection Act)
ที่จะบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งกฎหมายนี้ก็ถูกเลื่อนมาถึง 2 ครั้งแล้ว
โดยสิ่งที่เราเห็นตอนนี้เป็นประจำก็คือเมื่อเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ
จะเห็นแถบด้านล่างให้เรากดยอมรับเพื่อการใช้นโยบายคุกกี้
หรืออนุญาตให้เว็บไซต์ เข้าถึงข้อมูลเรานั่นเอง แถมบางเว็บไซต์หากเราไม่กดยอมรับ
ก็อาจเข้าถึงข้อมูลเว็บไซต์ได้ไม่สมบูรณ์
คำถามก็คือ จริง ๆ แล้วทุกอย่างที่อยู่บนโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
ควรขออนุญาตตัวผู้ใช้งานในการเข้าถึงข้อมูลก่อนหรือไม่ ?
เรื่องนี้ขอยกตัวอย่างบรรดาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ทุกคนต่างมีติดไว้ในโทรศัพท์มือถือ
เคยสังเกตบ้างไหม ทุกครั้งที่เราดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่าง ๆ
มักจะมีแบบฟอร์มขอความยินยอมในการขอให้เราเปิดเผยข้อมูล
พร้อมเด้งขึ้นมาให้เรากดยินยอม
แล้วที่ดูเหมือนเป็นตลกร้ายก็คือแบบฟอร์มเหล่านี้มักจะมีตัวอักษรเล็กมาก ๆ
เพื่อซ่อนข้อความบางอย่างที่เราอาจไม่ทันสังเกต
แถมยังมาด้วยข้อความที่ยาวเหยียด
เหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าผู้ใช้อย่างเรา ๆ จะไม่อ่านอะไรเลย
พร้อมกับสไลด์ไปด้านล่างสุด
จากนั้นก็ให้กดยอมรับในการให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวอย่างหน้าตาเฉย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติ
ขยายระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ออกไปอีก 1 ปี
ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565
ถือเป็นการเลื่อนครั้งที่ 2 โดยให้เหตุผลว่าการระบาดของโควิด 19
ส่งผลให้หน่วยงานรัฐและเอกชนที่รับผิดชอบเรื่องนี้
ไม่สามารถปรับตัว และเตรียมความพร้อมได้ทันกับการบังคับใช้กฎหมายในปีนี้
นั่นหมายความว่าคนไทยต้องอยู่ในสถานะจำยอมไปอย่างน้อย ๆ อีก 1 ปี
เพื่อให้ข้อมูลส่วนตัวถูกเข้าถึงได้ง่าย ๆ โดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย
แถมเราก็ยังไม่รู้ด้วยว่า ใครที่เอาข้อมูลเราไปนั้น จะเอาไปใช้ในทางที่ดีหรือไม่ดี
และยิ่งกฎหมายล่าช้าเท่าไร แต่โลกเทคโนโลยีกลับติดจรวด
กฎหมายที่ออกมานั้นก็อาจคุ้มครองเราไม่ได้เต็มที่เช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/142614
-https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/936458
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.