กรณีศึกษา เฮงลิสซิ่ง ทำอย่างไร ถึงเติบโตเร็ว จนเตรียมพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

กรณีศึกษา เฮงลิสซิ่ง ทำอย่างไร ถึงเติบโตเร็ว จนเตรียมพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

26 ส.ค. 2021
กรณีศึกษา เฮงลิสซิ่ง ทำอย่างไร ถึงเติบโตเร็ว จนเตรียมพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
HENG X ลงทุนแมน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่กำลังโตระเบิด
กลุ่มธุรกิจนั้นก็คือ “สินเชื่อที่มีหลักประกัน” ในกลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non Bank
เหตุผลก็คือ มีคนไทยกว่า 60% ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้
โดยสินเชื่อที่มีหลักประกันที่ได้รับความนิยมสูงก็มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทหลัก ๆ
(1) “สินเชื่อเช่าซื้อ” เป็นสินเชื่อสำหรับคนต้องการรถยนต์แต่ไม่มีเงินสด
และไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินรายใหญ่ได้ ก็เลยต้องพึ่งพาบริษัท Non Bank ในการซื้อ
โดยผู้ซื้อสามารถใช้รถได้ปกติ แต่กรรมสิทธิ์รถจะยังอยู่กับบริษัท Non Bank ผู้ที่ให้สินเชื่อ
จนกว่าเราจะผ่อนชำระค่างวดหมดนั่นเอง
(2) “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” ถ้าใครมีรถยนต์แต่ต้องการเงินสดแบบด่วน ๆ
ก็สามารถนำเอาทะเบียนรถไปจำนำกับบริษัท Non Bank เพื่อให้ได้เงินก้อน
โดยยังสามารถนำรถไปใช้งานได้ และยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถอยู่เหมือนเดิม
(3) สินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน เช่น หากเราต้องการเงินสด
ก็สามารถเอาโฉนดที่ดินเป็นหลักค้ำประกันในการขอสินเชื่อ
และเมื่อสินเชื่อที่มีหลักประกันมีความต้องการตลาดสูง
สิ่งที่ตามมาก็คือ ได้เกิดบริษัท ที่ให้บริการ “สินเชื่อที่มีหลักประกัน” ขึ้นมามากมาย
เพียงแต่บริษัทใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นจะมีสักกี่บริษัทที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
บริษัทที่ลงทุนแมนกำลังพูดถึงก็คือ บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (“เฮงลิสซิ่ง”)
ที่มีสาขาถึง 402 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564
และมีการปล่อยสินเชื่อรวมกัน 8,276 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563
โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดก็คือ บริษัทแห่งนี้กำลังเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อหุ้นว่า HENG
จำนวนไม่เกิน 800,837,300 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
ที่น่าสนใจคือ แม้เราจะรู้จักเฮงลิสซิ่งในภาพของบริษัทที่ทำธุรกิจให้บริการสินเชื่อที่มีหลักประกัน
แต่รู้หรือไม่ว่า บริษัทแห่งนี้ยังมีธุรกิจสินเชื่อประเภทอื่น ๆ อีก ทั้งสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ที่ให้บริการลูกค้าทั่วไปที่มีรายได้สม่ำเสมอ รวมถึงมีเอกสารรับรองรายได้ และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่ให้บริการลูกค้ารายย่อยทั่วไป ที่มีความต้องการนำเงินไปใช้เพื่อประกอบอาชีพ แต่ไม่มีเอกสารรับรองรายได้ รวมถึงนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ที่ครอบคลุมให้บริการผลิตภัณฑ์ ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยรถจักรยานยนต์ ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ ซึ่งช่วยตอบโจทย์ด้านการเงินแก่คนในท้องถิ่นแบบครบวงจร
บริษัทแห่งนี้ดำเนินธุรกิจด้วยวิธีไหน ทำไมถึงสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
เฮงลิสซิ่งเกิดจากการร่วมทุนของ 4 กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งประกอบธุรกิจสินเชื่อในภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มทวีเฮง กลุ่มพัฒนสิน กลุ่มมิตรเอื้ออารีย์ และกลุ่มสินปราณี ซึ่งแต่ละกลุ่มผู้ถือหุ้นต่างมีประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันที่แตกต่างกันในภาคเหนือ มากกว่า 20 ปี
ทีนี้ เมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีมิตรภาพ และประสบการณ์ยาวนานในอุตสาหกรรมที่มีความสามารถ มารวมตัวกันเพื่อก่อตั้งเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ เฮงลิสซิ่ง ก็เลยนำเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละกลุ่มผู้ถือหุ้นมาผสานรวมกันเป็นจุดแข็งทางธุรกิจ เหตุผลนี้เองที่ทำให้เฮงลิสซิ่งมีจำนวนการปล่อยสินเชื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยช่วงเริ่มต้น บริษัทฯ ก็จะปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกันในพื้นที่ภาคเหนือ
เพราะเป็นพื้นที่อันแข็งแกร่งของแบรนด์ด้วยการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนในแต่ละท้องถิ่น
จากนั้นไม่นานนัก ก็ขยายสาขาไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับให้บริการสินเชื่อประเภทใหม่ ๆ
ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายความต้องการ และยังคงจุดแข็งเรื่องสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนในท้องถิ่น
ตรงนี้เอง ที่ทำให้ฐานลูกค้าที่ขอสินเชื่อกับทางบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2561 ฐานลูกค้ามีมูลค่าสินเชื่อรวมกัน 7,617 ล้านบาท
ในปี 2563 ฐานลูกค้ามีมูลค่าสินเชื่อรวมกัน 8,276 ล้านบาท
ระยะเวลา 2 ปีมูลค่าสินเชื่อเติบโต 8.65% โดยธุรกิจที่มีฐานลูกค้าใหญ่เป็นอันดับ 1
ก็คือธุรกิจ “สินเชื่อเช่าซื้อ” โดยคิดเป็น 65% จากมูลค่าการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด
รองลงมาก็คือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถคิดเป็น 23%
พอเป็นแบบนี้ก็ย่อมส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ในปี 2561 มีรายได้ 1,238 ล้านบาท กำไรสุทธิ 151 ล้านบาท
ในปี 2563 มีรายได้ 1,450 ล้านบาท กำไรสุทธิ 318 ล้านบาท
ความน่าสนใจมันอยู่ตรงที่ว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าตลาดสินเชื่อที่มีหลักประกัน
เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง มีทั้งกลุ่มธนาคาร จนถึงกลุ่ม Non-Bank ต่างเปิดเกมแย่งชิงลูกค้าอย่างไม่มีใครยอมใคร
ซึ่งการจะเติบโตแบบนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
คำถามก็คือแล้ว เฮงลิสซิ่งใช้วิธีไหนสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทตัวเอง
ก็ต้องมาดูกันว่า “จุดแข็ง” ที่บริษัทอื่น ๆ ไม่มี แต่เฮงลิสซิ่งมี มันคืออะไร
คำตอบก็คือ ฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งจากความสัมพันธ์ที่ดีของผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานในแต่ละสาขา
กับคนในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งพันธมิตรเครือข่ายผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสอง และนายหน้ามากกว่า 5,100 ราย ทำให้เข้าใจในความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เลยทำให้เฮงลิสซิ่งรู้ว่าแท้จริงแล้วสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลูกค้าที่ขอสินเชื่อที่มีหลักประกัน
คือต้องการ “อนุมัติง่าย ได้เงินไว” และ “รู้จริง รู้ใจ”
ก็เลยทำให้จุดเด่นของสินเชื่อที่มีหลักประกันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกันจะอยู่บนพื้นฐานแนวคิดนี้
เช่น สมมติว่าเราไม่มีเอกสารหลักฐานทางการเงิน แต่มีงานทำที่แน่นอน บริษัทฯ ก็จะลงพื้นที่ตรวจสอบ เพื่อพิจารณาทำเรื่องอนุมัติเงินกู้ให้เรา
หรือหากเรามีบ้าน มีที่ดิน แต่เดือดร้อนเรื่องเงินก็สามารถทำเรื่องกู้สินเชื่อกับทางบริษัทฯ ได้ โดยนำหลักทรัพย์นั้นมาใช้ค้ำประกันการกู้เงิน
และไม่ว่าจะกู้สินเชื่อแบบไหน ขั้นตอนก็จะง่ายไม่ยุ่งยาก รู้ผลอนุมัติรวดเร็ว
แล้วรับเงินก้อนในทันที เพื่อให้ลูกค้าไปแก้ปัญหาทั้งด้านหนี้สินและการทำธุรกิจได้ทันเวลา
และนี่เองที่ทำให้เฮงลิสซิ่งกลายเป็นบริษัทที่ชนะใจคนในแต่ละท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จะเป็นรายได้หลักของบริษัทฯ
แต่เฮงลิสซิ่งก็ไม่ได้ยึดติดแค่ธุรกิจเดียว เพราะรู้หรือไม่ว่าบริษัทแห่งนี้มีถึง 3 ธุรกิจหลัก ๆ
(1) ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน อย่างเช่น สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อที่มีบ้านและที่ดิน เป็นหลักประกัน
(2) สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน แต่มีรายได้สม่ำเสมอทุกเดือน และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สำหรับลูกค้ารายย่อยทั่วไป
(3) นายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต

ซึ่งการเดินทางเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ เป้าหมายของบริษัทฯ แห่งนี้ถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียว
รู้หรือไม่ว่า ภายในปี 2566 บริษัทฯ มีเป้าหมายขยายสาขาถึง 830 สาขาทั่วประเทศ
พร้อมกับมีมูลค่าพอร์ตสินเชื่อมากถึง 13,000 ล้านบาท
และหากทำสำเร็จก็จะทำให้เฮงลิสซิ่งกลายเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการการเงินแถวหน้าของเมืองไทย
ซึ่งนั่นแปลว่า เงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
เฮงลิสซิ่งก็จะนำไปขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงขยายสาขาและลงทุนด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ
อีกส่วนหนึ่งจะนำไปชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
ถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่าธุรกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จนล่าสุดคือเตรียมโลดแล่นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ความสำเร็จตรงนี้ก็น่าจะมาจากบริษัทฯ ที่เข้าใจว่าลูกค้าตัวเองต้องการอะไร ?
และเมื่อเข้าใจแล้วก็สร้างสินค้าและบริการที่ลูกค้ารู้สึกว่า
สินค้าและบริการนี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ชีวิตการเงินของเขาอย่างแท้จริง
เป็นวิธีคิดในการทำธุรกิจของเฮงลิสซิ่งเพื่อให้ตัวเองกลายเป็นบริษัทการเงินที่เติบโตอย่างยั่งยืน…
References:
-https://www.thansettakij.com/tech/454218
-แบบแสดงรายการข้อมูล Filing เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) จากเว็บไซต์ สำนักงาน ก.ล.ต.
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.