สรุปประเด็นสำคัญจากงาน Thailand Focus 2021

สรุปประเด็นสำคัญจากงาน Thailand Focus 2021

25 ส.ค. 2021
สรุปประเด็นสำคัญจากงาน Thailand Focus 2021 /โดย ลงทุนแมน
ผู้นำภาครัฐและเอกชน มองและปรับตัวอย่างไร ในยุคหลังโควิด
วันนี้ทาง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้จัดงาน Thailand Focus 2021 ที่จะมาพูดคุยกันในเรื่อง “Thriving in the Next Normal” ที่จะครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นเกี่ยวกับ การรับมือกับสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา, การปรับตัวในช่วงหลังโควิด ไปจนถึงความสำคัญของการทำธุรกิจแบบยั่งยืน
โดยมีแขกรับเชิญ จากทางฝั่งภาครัฐ และนักธุรกิจแนวหน้าของเมืองไทย ที่จะมาแบ่งปันมุมมอง, ประสบการณ์ และการปรับตัว เพื่อรองรับ Next Normal ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะแบ่งหัวข้อย่อย ออกเป็น 6 หัวข้อด้วยกัน
แล้วมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง ? ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง..
1. หัวข้อ Shaping Thailand’s Readiness for Post COVID-19 Economic Opportunities
โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โดยกล่าวถึงการสร้างความพร้อมประเทศไทย สู่โอกาสทางเศรษฐกิจหลังโควิด 19
สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทางรัฐบาลมีแผนที่จะสนับสนุนการเปิดเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น
- เดินหน้าลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน, ทางรถไฟ, การบิน และพลังงานสะอาด
- ลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และออกพันธบัตรที่สนับสนุนการเติบโตแบบยั่งยืน
- สนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัล, สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และชีวเคมี
- สถานที่สำหรับการระดมทุน ที่โปร่งใส เท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ซึ่ง LiVE Platform คือหนึ่งในโปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จมาก ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเป็นตัวกลางที่จะช่วยให้ SME และ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุน
2. หัวข้อ From Resiliency to Recovery and Beyond : Central Bank Policies for an Uncertain World
โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ 3 ประเด็น
1) ภาพรวมเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวจากพิษโควิดได้ช้า และไม่สม่ำเสมอ เพราะว่าภาคการท่องเที่ยว ที่คิดเป็น 11% ของ GDP มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าภาคเศรษฐกิจอื่น รวมถึงภาคการบริการอื่น ๆ ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
อีกทั้งการระบาดของโควิดระลอก 3 และการกระจายวัคซีนที่ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมีทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในโลก ในขณะที่หนี้ต่างประเทศ ยังอยู่ในระดับต่ำ
2) สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติ
ซึ่งเน้นใช้วิธีที่ยืดหยุ่นและปฏิบัติได้จริง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
3) สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะดำเนินการต่อไปในอนาคต
ในระยะสั้น ทาง ธปท. ต้องการผลักดันให้ธนาคาร หันมาใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้กันมากขึ้น โดย ได้อำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ธนาคารหันมาใช้มาตรการนี้
ส่วนในระยะยาว ทาง ธปท. อยากให้โลกหลังโควิด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งประเทศไทย ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวให้เห็นกันบ้างแล้ว เรื่องของความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม
ทาง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เริ่มมีการจัดอันดับบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG Index
3. หัวข้อ Living in Next Normal : COVID-19 Lessons Learned and Future Directions
ตอนนี้การระบาดในประเทศไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว การติดเชื้อของผู้คนชะลอตัวลง และอัตราการเสียชีวิต ก็เริ่มเห็นสัญญาณการลดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จากการกระจายวัคซีน
ตอนนี้ประมาณ 30% ของคนไทยได้รับวัคซีนเข็มแรก และประมาณ 10% ได้รับเข็มสองไปเป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งคาดว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ จะสามารถเกิดขึ้นได้ภายใน 4 เดือนข้างหน้า
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีที่แล้วนั้น อยู่ในจุดที่ต่ำแล้ว
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าที่แข็งแกร่ง
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำได้ดีกว่าคาด ใน 1-2 ไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกเป็นตัวช่วยในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้สามารถเติบโตได้ 7.5% ในช่วงครึ่งปีแรก มากกว่าที่ตลาดวิเคราะห์ไว้ที่ 6.4%
โมเมนตัมการเติบโตน่าจะแข็งแกร่งในปีหน้า ด้วยโครงการ การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
นักลงทุนควรมองข้ามสถานการณ์โควิด ซึ่งรัฐบาลคาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่ภายในปีหน้า
และอีกปัจจัยหลักในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การที่คนทั่วโลกได้รับวัคซีนเร็วที่สุด ไทยจึงสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เหมือนเคย
4. หัวข้อ How Thai Business Adapt to Current Crisis
ระบบธนาคารต้องปรับตัวอย่างมาก โดยให้ความสำคัญด้านสุขภาพและความปลอดภัยต่อบุคลากรและลูกค้า ซึ่งธนาคารบางสาขาถูกปิดทำการชั่วคราว และให้บุคลากร Work From Home (WFH)
จึงใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลักในการทำงาน และได้เพิ่มทางเลือกการทำธุรกรรมใหม่ เช่น Website, E-Marketplace และ Social Media เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน
รวมถึงการให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียน ให้ทุกธุรกิจก้าวข้ามผ่านปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้
สำหรับ SCG ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งทางบริษัทก็ได้มีการปรับตัวมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่การปรับให้พนักงานมาทำงานแบบ WFH หรือการแบ่งพนักงานโรงงาน ออกเป็นสองกลุ่ม เพื่อลดความเสี่ยงการระบาด
การปรับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น โดยการสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างเช่น การ WFH ทำให้คนหันมาปรับปรุงบ้านมากขึ้น ก็ได้มีการบริการด้านการปรับปรุงตกแต่งบ้านเพิ่มเข้าไปด้วย
ส่วนในอนาคต ทาง SCG ก็พยายามเน้นในเรื่องของนวัตกรรมให้มากขึ้น และจะหันไปพัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซสำหรับธุรกิจก่อสร้าง โดยจะยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนกลุ่มธุรกิจในเครือ CRC นั้นได้รับผลกระทบหลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาคการโรงแรม, รีเทล และอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทก็ได้เริ่มปรับตัวมาตั้งแต่ช่วงปี 2017 ที่เริ่มให้ความสำคัญกับธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น โดยมีการพัฒนาส่วนของ Omni Channel ที่เชื่อมประสบการณ์ช็อปปิงออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ การจะฝ่าวิกฤติไปได้ หลายฝ่ายต้องช่วยกัน ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
อย่างตัวซัปพลายเออร์ของทางเซ็นทรัล รีเทลเอง ก็ต้องไปจับมือกับธนาคารเพื่อเข้าไปช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง
ซึ่งเชื่อว่าหลังโควิด ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งมากขึ้น คือ สุขภาพ, ประสบการณ์ และความยั่งยืน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเริ่มมีการรีเซตกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เข้ากับธีมเหล่านี้มากขึ้น
5. หัวข้อ Thailand Innovative Business
- aCommerce นั้นอยากที่จะเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งในอาเซียน
โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการ ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ตั้งแต่การจัดการ การตลาด ไปถึงโลจิสติกส์ แก่ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ เช่น ร้านค้า
ซึ่งการที่เราจะประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ เราต้องมีวิสัยทัศน์ที่ไกล และมีทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่ง
บริษัทควรสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถเติบโต และเป็นที่ต้องการของประชากรในประเทศนั้น
รวมถึงต้องมีการตัดสินใจให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างเด็ดขาด
ที่สำคัญในประเทศไทย มีบริษัทชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ เข้ามาลงทุนเยอะมาก เช่น JD, Lazada
ทำให้บริษัทสามารถสร้างพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจกับบริษัทเหล่านี้ได้
- NR Instant Produce คือบริษัทอาหาร ที่ผลิตอาหารและส่วนผสม ที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ
การผลิตอาหารของบริษัทนั้น ได้ลดการปล่อยคาร์บอนฯ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งบริษัทเน้นย้ำในแนวคิด ESG ที่ส่งผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี
บริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินการได้ เพราะมีทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่ง
มีผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน และเรามีนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อทำให้สินค้าของเราแตกต่างจากคู่แข่ง
- Pomelo Fashion เป็นแพลตฟอร์มแฟชั่นดิจิทัล ชั้นนำในอาเซียน
บริษัทให้บริการด้าน Omni Channel สำหรับลูกค้า และมีสินค้าให้เลือกมากกว่า 37,000 รายการ
กุญแจสำคัญที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ คือ เรารู้ว่าทุกภาคส่วน จะต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล ซึ่งแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ก็คือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้อีกมาก
โดยการประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ เราต้องเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ในด้านนี้มาก่อน
ถ้าเราเรียนรู้ข้อผิดพลาดของเขาได้ เราจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งเมืองไทยมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่สำคัญเยอะมาก เช่น บริษัทเซ็นทรัล ที่มาเป็นพาร์ตเนอร์กับทางบริษัท
การมีพาร์ตเนอร์ดี ๆ จะทำให้เราเรียนรู้ระบบจากเขาได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยควรเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนา โดยสอนเด็กรุ่นใหม่ เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล เพราะเมืองไทยยังขาดคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที ซึ่งส่วนนี้อาจทำให้เราสู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้
- YGGDrazil Group เป็นผู้ให้บริการเอฟเฟกต์ภาพเสมือนจริงแก่ผู้ให้บริการเกมออนไลน์
และบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับ Virtual Production หรือการผสมกันระหว่าง Live Footage และภาพ Digital เพื่อสร้างคอนเทนต์แบบเรียลไทม์
สำหรับองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม คือ การมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีพันธกิจที่แข็งแกร่ง
การสื่อสารระหว่างผู้บริหารและผู้ร่วมทุน เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ
ซึ่งบริษัทควรสร้างวัฒนธรรมของคนในองค์กร ที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ หากต้องการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมภายในประเทศ
ภาครัฐ ควรเพิ่มมาตรการช่วยเหลือเหล่า SME และ Startup ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
และอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ
6. หัวข้อ Accelerating Sustainable Investing in Thai Capital Market
ในมุมมองของนักลงทุนสถาบัน อย่าง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ESG นั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกการลงทุน แต่ก็ต้องคำนึงถึงทั้งด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน
บางครั้งบริษัทที่มีคะแนน ESG ดี ก็ไม่ได้หมายความว่า จะสร้างผลตอบแทนได้ดี
ดังนั้น เราต้องเน้นในเรื่องการเข้าไปทำ Due Diligence อย่างละเอียด และคอยติดตามว่าบริษัทนั้น ได้ทำ ESG อย่างจริงจังแค่ไหน
ส่วนในมุมของธุรกิจและองค์กรเอง ในเวลานี้ก็ได้มีการปรับตัวเข้าหา ESG กันมากขึ้น
อย่าง PTTGC ที่เป็นบริษัทด้านเคมีภัณฑ์ ที่ได้ปรับมาใช้แนวทาง ESG และกำลัง Perform ได้ดี
ก็ได้ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยคาร์บอนฯ ให้เหลือ 0% ภายในปี 2050 โดยเน้นที่การปรับกลยุทธ์ทั้งระบบ รวมไปถึงการกระจายการลงทุน ไปยังผลิตภัณฑ์ที่ผลิตคาร์บอนฯ ในปริมาณต่ำ
สำหรับธุรกิจธนาคาร ESG นั้นก็หมายถึง จรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจด้วย
แน่นอนว่าการทำธุรกิจต้องคำนึงถึงทั้งสองฝ่าย คือผู้ถือหุ้น และลูกค้า
ซึ่งทาง TTB ก็ได้เน้นในเรื่อง Financial Well Being หรือ การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับลูกค้า โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาชีวิตด้านการเงินของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ การทำ ESG Report เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของความโปร่งใส หรือการบอกให้คนรู้
แต่การแบ่งปันข้อมูลจะช่วยให้บริษัทอื่น ๆ ได้เรียนรู้และพัฒนาไปพร้อม ๆ กันด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ใหม่ และหลายฝ่ายยังต้องปรับปรุงไปพร้อม ๆ กัน
ส่วนอนาคตของ ESG ยังมีแนวโน้มไปในทางที่ดี และควรที่จะทำให้อยู่ในกระบวนการดำเนินงานของบริษัทจริง ๆ เพราะการทำ ESG ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำให้การทำงานมีความหมาย
สร้างผลตอบแทนระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้น และยังทำให้โลกดีขึ้นด้วย
และนี่ก็คือการสรุปเนื้อหาจากงาน Thailand Focus 2021 ที่ได้พูดคุยกันในเรื่อง “Thriving in the Next Normal” ซึ่งเราก็น่าจะได้รับข้อมูล และมุมมองที่น่าสนใจจาก ผู้นำภาครัฐและเอกชน หลายองค์กร โดยเราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด เตรียมพร้อมปรับตัวในช่วงหลังโควิด และได้แนวคิดในการทำธุรกิจได้แบบยั่งยืน ในอนาคต..
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือ ดู Presentation และชม Clip ย้อนหลังได้ที่ www.set.or.th/thailandfocus
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.