บริษัท 3M ทำอย่างไร ให้มีสินค้า 60,000 ชนิด

บริษัท 3M ทำอย่างไร ให้มีสินค้า 60,000 ชนิด

23 ธ.ค. 2021
บริษัท 3M ทำอย่างไร ให้มีสินค้า 60,000 ชนิด /โดย ลงทุนแมน
ทำไมหลาย ๆ บริษัทกว่าจะคิดค้นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้แต่ละชนิดนั้นยากเหลือเกิน
กลับกัน บางบริษัทกลับเป็นเจ้าของแบรนด์เป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน จนถึงเป็นหมื่นชนิด
หนึ่งในนั้นก็คือ 3M บริษัทที่ทำธุรกิจมาเกินกว่า 100 ปี และคิดค้นผลิตภัณฑ์มากเกินกว่า 60,000 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นสก๊อตช์เทป สก๊อตช์-ไบรต์ แผ่นแปะโพสต์-อิท ไปจนถึงหน้ากากอนามัย N95
แม้ทุกวันนี้ หลายคนจะรู้จัก 3M ในฐานะเจ้าแห่งนวัตกรรม
แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นนั้น 3M ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี
กว่าจะคิดค้นและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาได้
แล้วอะไรกัน คือเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงในบริษัทแห่งนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นของ 3M เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1902 เมื่อชาย 5 คนรวมตัวกัน
เพื่อเปิดบริษัทเหมืองแร่เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เพื่อที่จะหาหินแร่ไปผลิตเป็นกระดาษทราย
บริษัทนี้ ตั้งอยู่ที่เมืองทูฮาร์เบอร์ส รัฐมินนิโซตา เลยตั้งชื่อว่า “Minnesota Mining and Manufacturing Company” ซึ่งในภายหลังได้กลายมาเป็น “3M” นั่นเอง
3M เรียกได้ว่า “ผิดพลาด” ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ เมื่อพวกเขาต้องการหาแร่
ที่เรียกว่า คอรันดัม ซึ่งเป็นแร่ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการนำมาทำกระดาษทราย
แต่ปรากฏว่าสิ่งที่พวกเขาได้มานั้นกลับกลายเป็น อะนอร์โทไซต์ ซึ่งเป็นแร่ที่แทบจะไม่มีค่าอะไรเลย
จากเหตุนี้ทำให้กระดาษทรายที่ผลิตออกมา มีคุณภาพต่ำ ส่งผลให้ยอดขายย่ำแย่ จนบริษัทเกือบล้มละลาย
แต่ยังโชคดีที่ยังมีนักลงทุนรายใหญ่จากเมืองเซนต์ปอล ชื่อ ลูเซียส ออร์ดเวย์ เข้ามาช่วยลงทุนอุ้มบริษัทเอาไว้
ต่อมา 3M ได้ย้ายบริษัทมาที่เมืองดูลูทและเปลี่ยนไปซื้อวัตถุดิบที่ดีขึ้นจากซัปพลายเออร์ที่ได้มาตรฐาน บวกกับค่อย ๆ พัฒนาสินค้าจนเริ่มพอขายได้ทีละเล็กทีละน้อย
หลังจากนั้น 3M ได้จ้างหัวหน้าฝ่ายขายเข้ามาใหม่ รวมถึงฝ่ายบัญชีคนใหม่ที่ชื่อ วิลเลียม แม็กไนต์
แม็กไนต์เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ได้เข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรใหม่ โดยเน้นย้ำเรื่องการร่วมมือกันทำงาน,​ พยายามปรับปรุงคุณภาพสินค้า และที่สำคัญคือการกระตุ้นให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์
ซึ่งในภายหลัง แม็กไนต์ คนนี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นประธานบริษัท รวมถึงประธานบอร์ดบริหาร
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มีส่วนให้บริษัทสามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี นั่นก็คือ “แผ่นใยขัดที่ทำจากผ้า”
จนในปี 1916 หลังจากรอคอยมาอย่างยาวนาน ในที่สุด 3M ก็มีกำไร และเริ่มจ่ายปันผล
ให้ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งแรก และก็ไม่เคยหยุดจ่ายเงินปันผลอีกเลยเป็นเวลากว่า 100 ปี..
หลังจากวันนั้น 3M ก็มีสินค้าออกมามากมายอีกกว่า 60,000 ชนิด
ตัวอย่างสินค้าที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น
- เทปและกาว ในชื่อแบรนด์ Scotch ที่เราเรียกติดปากว่า สก๊อตช์เทป
- อุปกรณ์ทำความสะอาด,​ แผ่นใยขัด ในชื่อ สก๊อตช์-ไบรต์
- เคมีภัณฑ์ เช่น สเปรย์, สารหล่อลื่น และสารเคลือบ
- อุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์
- อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องแล็บ
- อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ตั้งแต่ดวงตา,​​ ศีรษะ,​ ใบหน้า, หู รวมถึงระบบหายใจ และอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยหนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ 3M มีผลิตภัณฑ์มากมายและประสบความสำเร็จมากขนาดนี้
เป็นผลมาจากการวางรากฐาน “วัฒนธรรมองค์กร” ที่สนับสนุนให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์
โดยวัฒนธรรมองค์กรของ 3M สามารถแบ่งออกได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. ให้ใช้เวลา 15%
พนักงานสามารถใช้เวลา 15% ของเวลางานเพื่อไปทดลองอะไรก็ได้ที่ตัวเองสนใจและยังได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทุกอย่าง รวมถึงเทคโนโลยีทั้งหมดกว่า 50 แพลตฟอร์มของบริษัท
ครั้งหนึ่งขณะที่ ดร.ซิลเวอร์ นักวิทยาศาสตร์ของ 3M กำลังใช้เวลา 15% นี้พยายามวิจัยกาวชนิดใหม่ เพื่อให้มีความเหนียวมากขึ้นและแข็งแรงมากขึ้น
ระหว่างนั้นเขาได้ค้นพบสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “ไมโครสเฟียร์” ซึ่งเป็นสารที่ยังคงให้ความเหนียวอยู่ แต่ก็มีคุณลักษณะที่ลอกออกได้ง่ายเช่นกัน เขารู้สึกได้ทันทีว่าไมโครสเฟียร์น่าจะต้องมีประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เป็นเวลาหลายปีที่เขาพยายามพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเพื่อคิดว่าจะเอาไมโครสเฟียร์ไปทำอะไรดี
จนถูกเพื่อน ๆ ล้อเลียน เพราะว่าเขาไม่ยอมล้มเลิกเสียที
ในขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่ง คุณฟราย นักวิทยาศาสตร์อีกคนของ 3M ก็ประสบปัญหาส่วนตัวเกี่ยวกับการซ้อมร้องเพลงที่โบสถ์
ทุกคืนวันพุธคุณฟรายมักจะเอากระดาษเล็ก ๆ คั่นหน้าเนื้อร้องที่ต้องไปร้องที่โบสถ์ แต่พอถึงวันอาทิตย์ กระดาษก็หลุดและหล่นไปทุกที
มาถึงตรงนี้เราก็คงจะเดาออกแล้วว่า เมื่อ ดร.ซิลเวอร์ และคุณฟราย มาร่วมมือกัน
ทั้งคู่จึงได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “Post-it” ขึ้นมา นั่นเอง
ในภายหลัง “เวลา 15%” นี้ก็ได้ถูกนำไปใช้ในอีกหลายบริษัท อย่างเช่น HP หรือ Alphabet ที่ปรับสัดส่วนให้เป็น 20% เลยด้วยซ้ำ ซึ่งบริการอย่าง Gmail หรือ Google AdSense ก็มาจากกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน
2. เงินทุนตั้งต้น
เมื่อพนักงานมีไอเดียอะไรดี ๆ หรืออยากพัฒนาเทคโนโลยีใหม่
เขาสามารถมาขอทุนวิจัยในนามแผนกหรือข้ามไปร่วมกับแผนกอื่นก็ได้
นอกจากนั้นยังมีทุนส่วนตัวที่สามารถขอโดยตรงกับบริษัทได้ สูงสุดถึง 3 ล้านบาท ซึ่งมีมากกว่า 10 ทุนต่อปี
3. กฎ 30/4
30/4 หมายถึง กำไร 30% ของบริษัทจะต้องมาจากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งออกจำหน่ายไม่เกิน 4 ปี
ซึ่งกฎนี้มีข้อดี 2 อย่าง
อย่างแรกคือ เป็นการกระตุ้นให้พนักงานต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย
ส่วนข้อดีอีกอย่างก็คือ นอกจากกระตุ้นให้พนักงานมีไอเดียแล้ว
หากไอเดียนั้นเข้าท่า มันก็สามารถต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์
ที่ทางบริษัทสามารถทำออกมาให้ขายได้จริงด้วย
4. เลือกเส้นทางการเติบโตได้
เนื่องจาก 3M เป็นบริษัทที่เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย บางครั้งการขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารทำให้ต้องแบ่งสมาธิไปบริหารงานส่วนอื่น ๆ และไม่สามารถวิจัยได้เต็มที่
บริษัทจึงเปิดโอกาสให้พนักงานเลือกได้ว่า จะเลือกเติบโตขึ้นไปเป็นผู้บริหาร หรือจะมุ่งหน้าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา โดยที่ยังมีโอกาสในการก้าวหน้าเท่า ๆ กัน
5. ให้รางวัลและให้การยอมรับ
บริษัท 3M มีรางวัลระดับโลกในหลาย ๆ สาขา เพื่อบ่งบอกว่าหน้าที่ของทุกคนมีความสำคัญต่อองค์กรไม่ต่างกัน เช่น
- The Carlton Society รางวัลสำหรับพนักงานที่มีผลงานดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์, การมีส่วนร่วมและทุ่มเทในเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ใหม่
- Circle of Technical Excellence & Innovation Awards เพื่อยกย่องพนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถด้านเทคนิคยอดเยี่ยม
- Pyramid of Excellence Awards สำหรับผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพโดดเด่น
- Quality Achievement Awards สำหรับทีมพนักงานที่มีความพยายามในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์
6. งบสำหรับวิจัยและพัฒนา
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่องนั่นก็คือ การทุ่มงบประมาณเพื่อวิจัยและพัฒนาที่สูงถึง 6% ของยอดขาย ในขณะที่ค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมเคมีคือ 1% เท่านั้น
แล้วตัวเลขนี้มากขนาดไหน ก่อนอื่นเรามาดูผลประกอบการ 3 ปีล่าสุดของ 3M กัน
ปี 2018 รายได้ 1,101,000 ล้านบาท กำไร 242,000 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 1,080,000 ล้านบาท กำไร 207,000 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 1,081,000 ล้านบาท กำไร 241,000 ล้านบาท
จากงบการเงินของ 3M จะเห็นได้ว่าบริษัทแห่งนี้ เป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดที่มีกำไรสม่ำเสมอระดับแสนล้านบาทต่อปี โดยหากเราคิดย้อนกลับไปที่งบสำหรับวิจัยและพัฒนา
หมายความว่าในปีล่าสุดเฉพาะงบสำหรับการวิจัยและพัฒนานั้นสูงถึง 65,000 ล้านบาท
ซึ่งมากกว่ากำไรสุทธิของทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยทำได้เสียอีก
3M เป็นตัวอย่างของบริษัทที่มุ่งมั่นสร้างนวัตกรรม โดยทุ่มทุนให้กับการวิจัยและพัฒนา
รวมถึงอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญก็คือ การวางรากฐานของ “วัฒนธรรมองค์กร”
ที่กระตุ้นให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์และรู้จักกับดีเอ็นเอของความเป็นผู้ประกอบการ
จึงไม่แปลกเลยว่าสิ่งเหล่านี้ จะหล่อหลอมให้ 3M ทำธุรกิจมายาวนานเป็น 100 ปี
และเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ เกินกว่า 60,000 ชนิด ที่ได้ถูกวางขายอยู่ทั่วทุกมุมโลก..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.3m.com/
-https://thestrategystory.com/2021/05/27/3m-innovation-strategy/
-http://homepages.ulb.ac.be/~mcincera/cours/gest/R8.PDF
-https://companiesmarketcap.com/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.