สรุป กองทุนน้ำมัน คืออะไร ? แบบเข้าใจง่าย ๆ

สรุป กองทุนน้ำมัน คืออะไร ? แบบเข้าใจง่าย ๆ

28 มี.ค. 2022
สรุป กองทุนน้ำมัน คืออะไร ? แบบเข้าใจง่าย ๆ /โดย ลงทุนแมน
ช่วงที่ราคาน้ำมันแพงอย่างในปัจจุบัน
หนึ่งเรื่องที่ถูกพูดถึงมาก ๆ น่าจะมีเรื่อง “กองทุนน้ำมัน” รวมอยู่ด้วย
แล้วเคยสงสัยไหมว่า กองทุนน้ำมัน คืออะไร
มีส่วนในการช่วยพยุงราคาน้ำมันมากน้อยแค่ไหน
ที่สำคัญกองทุนนี้เอาเงินจากไหน มาช่วยลดผลกระทบในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ชื่อเต็ม ๆ ของกองทุนน้ำมันมีชื่อว่า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ถูกตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2516
จุดประสงค์ของกองทุนนี้ คือเพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง
รวมไปถึงช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ
ในกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมัน ได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่สูงมากจนเกินไป
โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะมีสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช.
ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของ กระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่บริหารจัดการ ให้กองทุนมีสภาพคล่องและเกิดประโยชน์สูงสุด
แล้วกลไกการทำงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น เป็นอย่างไร ?
สรุปง่าย ๆ คือ เวลาราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้น จนทำให้ราคาขายปลีกในประเทศต้องปรับขึ้นตาม
รัฐบาลก็จะมีมติให้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน มาจ่ายชดเชยราคาบางส่วน เพื่อตรึงให้ราคาขายปลีกไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก
ซึ่งรายจ่ายในส่วนที่ว่านี้ ถือเป็นรายจ่ายหลักของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นั่นเอง
แล้วรายรับหลัก ๆ ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาจากไหน ?
รายรับหลักของกองทุน มาจาก 3 ส่วน คือ
- จากส่วนของภาษีสรรพสามิตที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
- จากส่วนของภาษีศุลกากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บจากผู้นำเข้าน้ำมัน
- จากส่วนของผู้ค้าน้ำมันและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ ที่ต้องนำส่งเงินให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
นอกจากนี้ เวลาราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง จนทำให้ราคาขายปลีกในประเทศต้องลดลงตาม
รัฐบาลก็จะเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อชดเชยกับช่วงที่นำไปใช้จ่ายก่อนหน้า ตอนที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถ้ากองทุนจ่ายชดเชยจนเงินกองทุนหมดแล้ว
หรือเงินของกองทุนเริ่มติดลบมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องตรึงราคาน้ำมันอยู่
รัฐบาลก็ต้องหาวิธีอื่นเพื่อตรึงราคาน้ำมันขายปลีก
ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีต่าง ๆ ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมัน หรือแม้แต่ไปกู้เงินมาให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้อุดหนุนราคาน้ำมันให้ผู้ค้าปลีกต่อไป
แล้วสถานะกองทุนน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา เป็นอย่างไร ?
- 26 ธันวาคม 2564 กองทุนน้ำมัน ติดลบ 4,480 ล้านบาท
- 30 มกราคม 2565 กองทุนน้ำมัน ติดลบ 14,080 ล้านบาท
- 27 กุมภาพันธ์ 2565 กองทุนน้ำมัน ติดลบ 21,838 ล้านบาท
- 13 มีนาคม 2565 กองทุนน้ำมัน ติดลบ 29,336 ล้านบาท
- 20 มีนาคม 2565 กองทุนน้ำมัน ติดลบ 32,831 ล้านบาท
ซึ่งการติดลบในที่นี้ หมายความว่า หนี้สินรวมของกองทุน มากกว่า สินทรัพย์รวม
และการตรึงราคาน้ำมันที่ต่อเนื่องและยังมีทีท่าว่าจะยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายคิด ทำให้หลายคนเริ่มกังวลถึงสภาพคล่องและสถานะการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอาจต้องกู้เสริมสภาพคล่องไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อใช้ตรึงราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อไป
ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างของ โครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตร ณ วันที่ 28 มีนาคม 2565
- ราคาน้ำมันดีเซล B7 ขายปลีก 29.94 บาท
ราคาหน้าโรงกลั่น 32.8220 บาท
ภาษีสรรพสามิต 3.20 บาท
ภาษีเทศบาล 0.32 บาท
กองทุนน้ำมัน -10.16 บาท
กองทุนอนุรักษ์ 0.005 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.8331 บาท
ค่าการตลาดของผู้ค้า 1.7943 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด 0.1256 บาท
- ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ขายปลีก 40.28 บาท
ราคาหน้าโรงกลั่น 27.0062 บาท
ภาษีสรรพสามิต 5.85 บาท
ภาษีเทศบาล 0.585 บาท
กองทุนน้ำมัน 1.02 บาท
กองทุนอนุรักษ์ 0.005 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.4126 บาท
ค่าการตลาดของผู้ค้า 3.1786 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด 0.2225 บาท
หมายความว่าตอนนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินอุดหนุน เพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซล จำนวน 10.16 บาทต่อลิตร ขณะที่ในส่วนของแก๊สโซฮอล์ 91 จะถูกเก็บเงินเข้ากองทุน 1.02 บาทต่อลิตร
ที่เป็นแบบนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำมันที่บริโภคกันในประเทศนั้น หลัก ๆ คือ น้ำมันดีเซล
ขณะที่ถ้าวันนี้กองทุนไม่จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ใช้น้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกจะเฉียด 35 บาทต่อลิตรไปเรียบร้อยแล้ว
ด้วยความที่น้ำมันดีเซลถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม ใช้กับเครื่องจักรในโรงงาน ถ้าราคาน้ำมันดีเซลเพิ่ม จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น
รวมไปถึงการที่น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ทั้งรถบรรทุกสินค้า และรถโดยสาร ถ้าราคาน้ำมันดีเซลเพิ่ม จะมีผลให้ต้นทุนสินค้าและการเดินทางเพิ่มขึ้น
ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ หากกองทุนน้ำมัน ไม่ให้เงินอุดหนุนเพื่อตรึงราคาไว้ที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาท
ก็จะทำให้ภาระตกมาอยู่กับประชาชน
ที่จะต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้ นั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า อีกหนึ่งเชื้อเพลิงที่กองทุนน้ำมันชดเชยมากเช่นกันคือ แก๊ส LPG เนื่องจากเป็นแก๊สที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
ไม่ว่าจะเป็นในครัวเรือน ร้านอาหาร ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งในรถยนต์
โดยปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยให้กับผู้ใช้แก๊ส LPG สูงถึง 19.84 บาทต่อกิโลกรัม เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.offo.or.th/th/fuelfund-history
-https://www.offo.or.th/th/estimate/fuelfund-status
-https://www.bangkokpost.com/business/2279763/cabinet-ups-oil-fund-borrowing
-http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/situation-oil-electric?orders[publishUp]=publishUp&issearch=1
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.