สรุป การรุกเข้าสู่ธุรกิจ EV ของ ปตท. ในปีนี้ และอนาคต

สรุป การรุกเข้าสู่ธุรกิจ EV ของ ปตท. ในปีนี้ และอนาคต

5 พ.ค. 2022
สรุป การรุกเข้าสู่ธุรกิจ EV ของ ปตท. ในปีนี้ และอนาคต
ปตท. x ลงทุนแมน
ปัจจุบัน พฤติกรรมการใช้พลังงานของเรา กำลังหันเข้าหาพลังงานสะอาด
ส่งผลให้บริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานดั้งเดิม
ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับยุคการเปลี่ยนผ่าน และพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
หากพูดถึงในประเทศไทย คงหนีไม่พ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.
บริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่กำลังวางกลยุทธ์การเติบโตระยะยาว ไปกับกลุ่มธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต
หนึ่งในนั้น ก็คือ กลุ่มธุรกิจ “EV Value Chain” หรือธุรกิจพลังงานไฟฟ้าครบวงจร
แล้ว ปตท. จะรุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หากเรามาดูเป้าหมายการใช้พลังงานในประเทศไทย
เรามีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง และจะก้าวเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า
แปลว่า เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสถานีบริการพลังงาน ประเภทยานยนต์บนท้องถนน ที่จะหันเข้าหาเทรนด์การใช้พลังงานสะอาด มากขึ้นในทุก ๆ ปี
หากเรามาดูโครงสร้างรายได้ของบริษัทพลังงานแห่งชาติ หรือ ปตท. ในปี 2564
เกือบทั้งหมด ยังคงมาจากธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นเชื้อเพลิงดั้งเดิม
ถ้าถามว่า ปตท. จะรุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าด้วยวิธีไหน
คำตอบก็คือ รุกด้วยการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ
โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นธุรกิจ ที่สามารถเติบโตตามเมกะเทรนด์ยุคการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในระยะยาว และเพื่อเข้ามาบริหารจัดการและลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าครบวงจรโดยเฉพาะ
ในที่นี้ก็คือ ครอบคลุมตั้งแต่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ไปจนถึงการบริการนอกสถานีบริการ
ผ่าน บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS)
แล้ว อรุณ พลัส ลงทุนและจัดตั้งธุรกิจ อะไรบ้าง ?
เรามาเริ่มจากธุรกิจแรกก็คือ “ออน-ไอออน” (on-ion) เป็นผู้ให้บริการสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า
ปัจจุบัน กำลังขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่ศักยภาพ นอกเหนือจากสถานีบริการ
ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน หรือแม้แต่ที่ร้านอาหาร
ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
ก่อนที่คนกลุ่มใหญ่จะเริ่มเลือกใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เปรียบได้กับตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ “เครื่องอัดประจุไฟฟ้า” ไม่ต่างอะไรไปจาก สถานีบริการน้ำมันสำหรับรถยนต์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
จะเห็นได้ว่าการที่ ปตท. เข้ามาลงทุนและเริ่มดำเนินธุรกิจนี้ก่อน
ก็เปรียบกับการเร่งและยังเป็นการวางรากฐานสำหรับยุคของพลังงานใหม่
ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหากเราทำได้ก่อนและบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยภาพที่เราจะเห็นได้ทั่วไปในอนาคตก็คือ ไม่ว่าเราจะเดินทางไปไหน
จะร้านอาหาร สำนักงาน ทุกที่ที่เราไป ก็จะเต็มไปด้วยสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับธุรกิจต่อมา ก็คือโครงการพัฒนา “E-Bus” หรือรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงที่ผลิตขึ้นใหม่ในประเทศ ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่ปัจจุบันมีความร่วมมือกับ EnCo ในการนำ E-Bus รุ่นใหม่ ซึ่งพัฒนานวัตกรรมตัวถังและโครงสร้างจากอลูมิเนียมสมัยใหม่ที่ผลิตในประเทศไทย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมระบบความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารครบครัน มาอำนวยความสะดวกในการรับส่งพนักงานในกลุ่ม ปตท. บุคลากรกระทรวงพลังงาน และประชาชนทั่วไปที่มาติดต่องาน โดยโครงการดังกล่าว ก็จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยพลังงานสะอาด
นอกเหนือจาก 2 ธุรกิจนี้แล้ว อรุณ พลัส ยังมีการลงทุนในธุรกิจ EV ระยะยาว ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าอีกมาก ผ่านการจัดตั้งบริษัทย่อย เช่น
“HORIZON PLUS” หรือ ฮอริษอน พลัส เป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง ปตท. และ Foxconn
ที่เพิ่งจัดตั้งแล้วเสร็จไปเมื่อ 2 เดือนก่อน
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก Foxconn
อธิบายสั้น ๆ ว่า บริษัทแห่งนี้ เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิต และประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก
โดยมีลูกค้ารายสำคัญ เช่น Apple, PlayStation, Nintendo และ Xiaomi
ซึ่งการเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรกัน ทั้ง 2 บริษัท จะเข้ามาช่วยผลักดันเทคโนโลยีการผลิต MIH Platform และ Open EV Platform
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำหรับการผลิตโครงช่วงล่างของรถยนต์ไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถปรับแต่งให้เข้ากับรถยนต์ได้หลายประเภท
หมายความว่า HORIZON PLUS จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ที่ช่วยให้แบรนด์รถยนต์ลดค่าใช้จ่าย
และลดระยะเวลาในการพัฒนาและผลิตรถยนต์แต่ละรุ่น
ทำให้ผู้ใช้งานรถยนต์จะได้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น
นอกจากนี้ HORIZON PLUS ก็ยังอยู่ในระหว่างการหารือกับหลายแบรนด์รถยนต์ยักษ์ใหญ่ ที่มีความสนใจในตลาดรถยนต์ประเทศไทยและอาเซียน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ให้กับบริษัท อีกด้วย
นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสถานีอัดประจุและโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว
ยังมีแพลตฟอร์มธุรกิจ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ
ซึ่งก็มีการตั้งแพลตฟอร์มให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ
ดำเนินการโดยบริษัท ชื่อว่า “Swap & Go”
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบทางธุรกิจที่พัฒนาขึ้นเพื่อทุกไลฟ์สไตล์การใช้งาน โดยเฉพาะไรเดอร์บนแพลตฟอร์มดิลิเวอรี ที่สามารถใช้งานได้สะดวก ทุกที่ทุกเวลาผ่านแอปพลิเคชัน “Swap & Go” ที่เชื่อมต่อกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถสลับแบตเตอรี่เดิมที่หมดกับแบตเตอรี่ใหม่
ที่พร้อมใช้งานในตู้ชาร์จด้วยตัวเอง ในเวลาไม่ถึง 3 นาที
ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์เทรนด์การใช้ชีวิตประจำวันในยุคนี้
เนื่องจากแพลตฟอร์มดิลิเวอรี ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของเราไปแล้ว
การที่มีบริการสลับแบตเตอรี่เข้ามารองรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
ก็จะเป็นอีกตัวขับเคลื่อนที่ทำให้สังคมไทย ก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากแพลตฟอร์มสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
ก็ยังมี “EVME PLUS” (อีวีมี พลัส) อีกหนึ่งผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์
การเป็นเจ้าของ EV แบบครบวงจร ให้บริการในรูปแบบ Subscription หรือการเป็นสมาชิก รายแรกและรายเดียวในประเทศไทยผ่านแอปพลิเคชัน EVme (อีวี มี)
ที่จะทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเลือกใช้บริการรถ EV จากแบรนด์ชั้นนำที่มีให้เลือกหลากหลายรุ่น เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เลือกรุ่นรถ และกดจอง เพียงเท่านี้ก็สามารถรอรับรถได้ที่หน้าบ้าน ได้เลยทันที
ทั้งนี้ อรุณ พลัส ก็ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เรียกว่า “G-Box for Residential”

ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานสำหรับที่พักอาศัย ภายใต้แบรนด์ G-Cell
พัฒนาโดย NUOVO PLUS ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง อรุณ พลัส และ GPSC
โดยสามารถนำมาใช้ร่วมกับระบบโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เรา
กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในตอนกลางวันไว้ในแบตเตอรี่
และนำมาชาร์จรถไฟฟ้าในตอนกลางคืน
โดยผู้ใช้งานสามารถควบคุม และสั่งการการทำงานต่าง ๆ ผ่านระบบสมาร์ตโฟน
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในที่พักอาศัยอย่างสมบูรณ์แบบ
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นกลยุทธ์การรุกเข้าสู่ธุรกิจ EV Value Chain หรือธุรกิจพลังงานไฟฟ้าครบวงจร
ของ ปตท. ที่ได้จัดตั้งบริษัทใหม่อย่าง “อรุณ พลัส” เข้ามาดำเนินธุรกิจในด้านนี้โดยเฉพาะ
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า การวางหมากของ ปตท. นั้น
เริ่มตั้งแต่การลงทุนในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งการลงทุนด้วยตัวเอง และการร่วมลงทุนกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ
จากต่างประเทศ ครอบคลุมไปจนถึงการให้บริการทั้งในและนอกสถานีบริการ
เรียกได้ว่า ปตท. น่าจะเป็นหนึ่งในองค์กรในประเทศไทย
ที่มีความพร้อมและกำลังวางรากฐาน เพื่อเป็นส่วนสำคัญ
ในการก้าวเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนระดับประเทศ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.