กรณีศึกษา ไทยส่งออก อาหารฮาลาล มูลค่ากว่า 1,000,000 ล้านบาท

กรณีศึกษา ไทยส่งออก อาหารฮาลาล มูลค่ากว่า 1,000,000 ล้านบาท

20 ส.ค. 2022
กรณีศึกษา ไทยส่งออก อาหารฮาลาล มูลค่ากว่า 1,000,000 ล้านบาท /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า ไทยส่งออกอาหารฮาลาล เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 12 ของโลก
โดยในช่วงก่อนโควิด 19 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1 ล้านล้านบาท
และในประเทศไทย ก็มีหลายบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้รับตราฮาลาลและมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็น
- บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเนื้อสัตว์แช่แข็งและแปรรูป
- บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องปรุงรส
แล้วความน่าสนใจของอาหารฮาลาล คืออะไร ?
ทำไม อาหารฮาลาลไทย มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปกติแล้ว การกินอาหารของชาวมุสลิม จะมีข้อห้ามหลายอย่าง
แต่สามารถกินอาหารบางชนิดได้ โดยไม่ผิดหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม
ซึ่งอาหารที่ชาวมุสลิมสามารถกินได้ มีชื่อเรียกว่า “อาหารฮาลาล”
โดยกว่าจะเป็นอาหารฮาลาล จะต้องมีขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย
เช่น คนมุสลิมจะต้องเป็นคนเชือดเนื้อสัตว์เท่านั้น
และตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงการขนส่ง และจัดจำหน่าย ต้องไม่มีการปนเปื้อนของสิ่งต้องห้าม
อย่างไรก็ตาม ก็มีอาหารบางชนิดที่ถือว่าเป็นอาหารฮาลาลได้
เพราะเป็นสินค้าที่มาจากธรรมชาติ และไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม
เช่น ผัก ผลไม้ นม และไข่
อาหารฮาลาล จึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มที่ถือว่าเป็นอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ
และกลุ่มอาหารฮาลาลที่ต้องมีขั้นตอนถูกต้อง ตามหลักศาสนาอิสลาม
โดยกลุ่มอาหารฮาลาล ที่ต้องมีขั้นตอนถูกต้อง ตามหลักศาสนาอิสลาม
ก็ต้องมีหน่วยงานเฉพาะ ที่ให้การรับรองว่าสินค้าเป็นอาหารฮาลาล
ซึ่งถ้าเราลองพลิกฉลากข้างสินค้า จะเห็นหน่วยงานที่มีชื่อว่า สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวมุสลิมได้ว่า สินค้านี้สามารถกินได้
แต่รู้หรือไม่ว่า อาหารฮาลาลที่เราเห็นกันในไทย ไม่ได้ส่งขายภายในประเทศไทยเท่านั้น
เพราะเรายังส่งออกไปต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งตลาดส่งออกหลักของไทย คือ ประเทศที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมาก เช่น
- จีน (25 ล้านคน)
- อินเดีย (209 ล้านคน)
- กลุ่มประเทศมุสลิม หรือ OIC (1,900 ล้านคน)

ซึ่งกลุ่ม OIC นี้ เป็นการรวมตัวกันของประเทศที่มีชาวมุสลิมส่วนใหญ่อาศัยอยู่ ทั้งจากทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ โดยประเทศเพื่อนบ้านของเรา ในภูมิภาคอาเซียน อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ก็เป็นสมาชิกในกลุ่ม OIC อีกด้วย
และรู้หรือไม่ว่า อาหารฮาลาลของไทย ยังส่งออกไปในแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งมีสัดส่วนของประชากรชาวมุสลิม มากกว่า 90% โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 56,000 ล้านบาท
และหากดูสถิติการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยย้อนหลัง ในช่วงก่อนโควิด 19 จะพบว่า
- ในปี 2560 มูลค่าการส่งออก 0.99 ล้านล้านบาท
- ในปี 2561 มูลค่าการส่งออก 1.06 ล้านล้านบาท
- ในปี 2562 มูลค่าการส่งออก 1.03 ล้านล้านบาท
โดยมูลค่าของตลาดอาหารฮาลาลโลก อาจเติบโตได้มากกว่านี้ในอนาคต เพราะมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2028 จะมีมูลค่ากว่า 11.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดในปัจจุบัน
ซึ่งสาเหตุที่ตลาดนี้ยังสามารถเติบโตได้สูง เพราะแนวโน้มของจำนวนประชากรชาวมุสลิม อยู่ในช่วงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มคนที่ไม่ใช่มุสลิมก็นิยมบริโภคอาหารฮาลาลมากขึ้น เพราะมั่นใจว่าสามารถตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิต และเชื่อใจในความสะอาดได้
ถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่าอาหารฮาลาล ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
แต่คำถามก็คือ ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในตลาดนี้ ?
ปัจจุบัน อาหารฮาลาลจากไทย มีส่วนแบ่งในตลาดโลก ประมาณ 2%
ในขณะที่ผู้ส่งออก 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่
- สหรัฐอเมริกา 8.9%
- เนเธอร์แลนด์ 5.4%
- เยอรมนี 5.2%
โดยหากไปดูการนำเข้าอาหารฮาลาลจากไทยในตะวันออกกลาง จะพบว่า
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 40%
- ข้าว 18%
- ผัก และผลไม้กระป๋องแปรรูป 8%
และในกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนเหนือ จะพบว่า
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 70%
- ข้าว 17%
จะเห็นได้ว่า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปจากไทย เป็นอาหารฮาลาลยอดนิยมในสองภูมิภาคนี้
โดยเฉพาะปลาทูนากระป๋อง ที่มีส่วนแบ่งในตลาดแอฟริกาเหนือเป็นอันดับ 1 เลยทีเดียว
ซึ่งสาเหตุที่อาหารกระป๋อง มักเป็นสินค้าหลักที่นำเข้าไปจำหน่าย เพราะสามารถเก็บได้นาน ไม่เน่าเสียง่ายในระหว่างการขนส่ง ในขณะที่อาหารสด เช่น ผลไม้ มักเสียเปรียบประเทศใกล้เคียง ซึ่งสามารถขนส่งได้สะดวกมากกว่า ส่วนเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ บราซิลก็เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ให้กับประเทศเหล่านี้
นอกจากนี้ ไทยมีความได้เปรียบด้านการผลิตอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
จากการที่มีวัตถุดิบต้นทางที่หลากหลาย มีพื้นที่ติดทะเลค่อนข้างยาว
และแรงงานไทยมีทักษะความเชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลมานาน
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีการตั้งคณะทำงานอาหารฮาลาลไทย เพื่อหวังจะกินส่วนแบ่งในตลาดโลกมากขึ้น
โดยสร้างพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ให้กลายเป็นแหล่งผลิตหลัก
แต่คู่แข่งของไทยก็มีการตั้งเป้าหมาย ที่จะเป็นผู้นำในการผลิตอาหารฮาลาลเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ที่ประกาศจัดตั้ง Halal Industry Development Corporation
เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลอย่างเป็นระบบ
หรือแม้แต่ประเทศในตะวันออกกลางอย่าง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอง ก็มีการตั้ง Dubai Islamic Economy Development Centre เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสินค้าของชาวมุสลิมอีกด้วย
พอเป็นแบบนี้ ตลาดฮาลาลจึงแข่งขันกันสูงมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เองอาจทำให้ไทย ต้องหาจุดเด่นของสินค้า
ฮาลาล ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่อง
และอีกเรื่องหนึ่งคือ กระบวนการผลิต ที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับชาวมุสลิม
เนื่องด้วยกลุ่มประเทศมุสลิม มักนำเข้าอาหารจากประเทศกลุ่มมุสลิมด้วยกัน เช่น มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย
เพราะมีความเชื่อมั่นว่าอาหารฮาลาลที่ผลิต เป็นไปตามหลักปฏิบัติทางศาสนาอิสลาม
ซึ่งหากมีการสื่อสารให้เข้าใจ ถึงกระบวนการผลิตของไทย และทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้มากขึ้นว่า อาหาร
ฮาลาลไทยก็มีคุณภาพไม่แพ้ประเทศมุสลิมอื่น ๆ ก็จะช่วยให้ตลาดส่งออกขยายตัวได้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของอาหารฮาลาล
สินค้าไทยที่มีมูลค่าการส่งออกกว่า 1 ล้านล้านบาท
และยังสามารถเติบโตในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งถ้าประเทศไทยต้องการจะเป็นเบอร์ 1 ด้านอาหาร และกลายเป็นครัวของโลก
อาหารฮาลาล ก็เป็นสิ่งที่ครัวไทยไม่ควรมองข้ามเช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-http://tradearabia.com/touch/article/IND/387216
-https://www.ditp.go.th/contents_attach/709499/709499.pdf
-https://www.thansettakij.com/business/trade/450792
-http://taxclinic.mof.go.th/pdf/4355CE32_E2AC_B968_094F_5649DD3B9CC1.pdf
-https://bit.ly/3Aw2q25
-https://www.imarcgroup.com/halal-food-manufacturing-companies
-https://www.halaltimes.com/muslim-country-among-top-10-halal-products-exporters/
-https://tradereport.moc.go.th/
-http://halalinfo.ifrpd.ku.ac.th/index.php/th/general/95-halal-article
-https://bit.ly/2MCk6kV
-https://bit.ly/3PtYxyx
-https://www.benarnews.org/thai/news/th-deep-south-economy-food-03312022161716.html
-https://www.bangkokbiznews.com/politics/945234
-https://www.dbd.go.th/news_view.php?nid=469420383
-https://exac.exim.go.th/detail/20210317130201/20210816103034
-https://bit.ly/3C7EYcu
-https://reut.rs/3A0xu8F
-https://th.wikipedia.org/wiki/
-https://www.fortunebusinessinsights.com/halal-food-and-beverages-market
-https://thaibizchina.com/wp-content/uploads/2018/11/book-halal-th.pdf
-https://www.dsoa.ae/explore-dso/initiatives/dubai-islamic-economy
-https://hdcglobal.com/about-hdc/
-https://www.worlddata.info/alliances/oic-islamic-cooperation.php#:~:text
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.