ไทยส่งออกไก่ แสนล้าน อันดับ 4 ของโลก

ไทยส่งออกไก่ แสนล้าน อันดับ 4 ของโลก

15 พ.ค. 2023
ไทยส่งออกไก่ แสนล้าน อันดับ 4 ของโลก /โดย ลงทุนแมน
เมื่อ 40 ปีก่อน ประเทศไทย ส่งออกไก่เป็นครั้งแรกจำนวน 163 ตัน มูลค่า 3 ล้านบาท
ปี 2565 ประเทศไทย มีการส่งออกไก่มากกว่า 1,000,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสูงถึง 148,913 ล้านบาท
เรียกได้ว่าเพิ่มขึ้น หลายเท่าตัว..
ซึ่งนั่นจึงทำให้ไทย กลายเป็นประเทศที่ส่งออกไก่
มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

แล้วทำไมอุตสาหกรรมไก่ไทยถึงเติบโต
จนกลายเป็นสินค้าส่งออกแสนล้านบาทได้สำเร็จ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ต้องบอกว่าประเทศไทยนั้นมีการเลี้ยงไก่กันมานานแล้ว
แต่การเลี้ยงไก่ในสมัยก่อนนั้นยังเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติตามบ้าน ด้วยการใช้เศษอาหารเหลือทิ้ง
จนกระทั่งในปี 2467 จึงเริ่มมีการเลี้ยงไก่แบบฟาร์มขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ฟาร์มไก่ของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ประจวบคีรีขันธ์
แต่ว่าการเลี้ยงไก่ในรูปแบบฟาร์มในช่วงแรกนั้น ก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไร
เพราะคนยังมองว่าการเลี้ยงไก่ มีความเสี่ยงสูงมากเกินไป จากปัญหาโรคระบาด
จนมาในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ โดยมีการออกนโยบาย เพื่อให้คนเลี้ยงไก่มากขึ้น เช่น
- นำเข้าพันธุ์ไก่จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนไก่พื้นเมือง เพราะได้ไข่ที่ใหญ่กว่า
- ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่
- อุดหนุนเงินผ่านกองทุนสนับสนุนการเลี้ยงไก่
แม้จะมีมาตรการส่งเสริมการเลี้ยงไก่มากมาย แต่การเลี้ยงไก่ในตอนนั้น ยังเป็นการเลี้ยงเพื่อการบริโภคไข่เป็นหลัก และยังไม่มีการเริ่มทำเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง
กระทั่งในช่วงปี 2500 เป็นต้นมา จึงเริ่มมีการเลี้ยงไก่เนื้อเพื่อบริโภค
ในช่วงเวลานั้นเอง บริษัทที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมไก่ก็เริ่มต้นขึ้นมากมาย
หนึ่งในนั้น คือ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือ CP ที่เราคุ้นเคย ซึ่งในตอนนั้นได้ไปจับมือกับบริษัท อาร์เบอร์ เอเคอร์ส บริษัทไก่รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา
การจับมือที่ว่านี้ มีตั้งแต่การนำเข้าพันธุ์ไก่ เพื่อนำมาขยายพันธุ์ และเอาวิธีจัดการเลี้ยงไก่แบบฟาร์มเข้ามาทำเองอีกด้วย
หลังจากนั้น อุตสาหกรรมไก่ของไทยก็เติบโตมากขึ้น จนสามารถส่งออกไก่ไปยังต่างประเทศได้เป็นครั้งแรก ด้วยจำนวน 163 ตัน มูลค่า 3 ล้านบาท
พร้อม ๆ กับการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพด ที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างต่อเนื่องในประเทศ
แต่ที่เล่ามานี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการส่งออกไก่เท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ทำให้ไทยสามารถส่งออกไก่ จนกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลก
เรื่องแรกเลย คือ
“อุตสาหกรรมไก่ไทย มีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”
ความได้เปรียบนี้ ทำให้ไทยสามารถผลิตได้ตั้งแต่อาหารไก่ และเลี้ยงไก่ การเชือดไก่ ไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไก่ได้ในทีเดียว
ซึ่งส่วนใหญ่ในไทย มักจะทำให้ครบ จบ ในที่เดียว หรือจะไปหาเกษตรกรเลี้ยงไก่ในประเทศ เพื่อทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้อีกด้วย
โดยมีตัวอย่างธุรกิจผู้ค้าไก่ในตลาดหุ้นไทย เช่น
- CPF บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) - BTG บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
- GFPT บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน)
หรือรายที่อยู่นอกตลาดหุ้น เช่น บริษัท สหฟาร์ม จำกัด หรือบริษัท โกลเด้น ฟู้ดส์ สยาม จำกัด ที่มีการส่งออกไก่ไปยังต่างประเทศเช่นกัน
เรื่องต่อมา คือ “จุดเปลี่ยนในช่วงไข้หวัดนก”
รู้หรือไม่ว่า ในช่วงปี 2547 ไทยเจอปัญหาไข้หวัดนกระบาด จนหลาย ๆ ประเทศมีการห้ามนำเข้าไก่สดจากไทยเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยมากอย่างที่คิด
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ นำไก่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศต่าง ๆ ยอมรับการนำเข้า
ผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป จึงกลายเป็นสินค้าที่สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออก และทำให้ไก่กลายเป็นสินค้าส่งออกแสนล้านบาทได้ จนถึงทุกวันนี้
และในช่วงเดียวกันนี้ รูปแบบการเลี้ยงไก่ก็ได้เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
จากระบบการเลี้ยงแบบเปิด ที่ปล่อยการเลี้ยงแบบอิสระ ไปเป็นระบบปิด และเลี้ยงในโรงเรือน
เพราะการเลี้ยงแบบปิด จะช่วยให้สามารถควบคุมโรคในไก่ได้ดี และยังช่วยควบคุมคุณภาพของเนื้อไก่ได้ง่ายมากขึ้น
กลายเป็นว่าผลจากการระบาดของไข้หวัดนกนี้เอง แม้ดูเหมือนจะเป็นข้อเสีย แต่กลับกลายเป็นข้อดี ที่ทำให้ไก่ไทยมีราคาและคุณภาพที่สูงในภายหลัง
และเรื่องสุดท้าย คือ
“แต้มต่อข้อตกลงทางการค้า”
ปัจจุบัน เราสามารถส่งออกไก่ทุกชนิดไปยังหลายประเทศแบบไม่เสียภาษี เช่น จีน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย
แม้ในบางประเทศ จะมีการเก็บภาษีนำเข้าไก่จากไทยอยู่บ้าง เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่ไทยมีการส่งไก่แปรรูปเข้าไปขายในประเทศเหล่านี้ ซึ่งยังคงมีอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำ
ในปัจจุบัน เราส่งออกไก่สดจำนวน 396,000 ตัน มูลค่ากว่า 46,360 ล้านบาท ไปยัง
- ญี่ปุ่น 37%
- จีน 34%
- มาเลเซีย 14%
ในขณะเดียวกัน ก็มีการส่งออกไก่แปรรูปจำนวน 643,711 ตัน มูลค่ากว่า 102,553 ล้านบาท ไปยัง
- ญี่ปุ่น 50%
- สหราชอาณาจักร 25%
- เนเธอร์แลนด์ 9%
ที่น่าสนใจก็คือ การส่งออกไก่ของไทย มีมูลค่าและปริมาณการส่งออกที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี
เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่โดดเด่นมาก..
แต่ก็คงต้องบอกว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่วนใหญ่นั้น ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ควบคุมต้นทุนในการผลิตได้ยาก
เรื่องดังกล่าว ก็เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญ หากประเทศไทยยังต้องการเป็นผู้ผลิตไก่ชั้นนำของโลกต่อไป..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://doi.nrct.go.th/ListDoi/Download/554683/d41d8cd98f00b204e9800998ecf8427e?Resolve_DOI=10.14457/CU.the.2006.14
-https://www.gfpt.co.th/gfpt/files/ir.annulreport/AnnualReport2022TH.pdf
-https://www.prachachat.net/economy/news-1201903
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/food-beverage/frozen-processed-chicken/io/io-chilled-frozen-processed-chicken
-https://oldweb.ditp.go.th/contents_attach/730238/730238.pdf
-https://www.silpa-mag.com/history/article
-https://www.thebusinessplus.com/chicken-thailand/
-https://www.scbeic.com/th/detail/product/chicken-271022
-https://www.nxpo.or.th/th/8056/
-http://www.rpu.ac.th/Library_web/doc/e-book_T/plan1.pdf
https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2554/socde0254jr_ch2.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.