สรุป การทุจริต ในบริษัท STARK ความเสียหาย 50,000 ล้าน

สรุป การทุจริต ในบริษัท STARK ความเสียหาย 50,000 ล้าน

8 มิ.ย. 2023
สรุป การทุจริต ในบริษัท STARK ความเสียหาย 50,000 ล้าน /โดย ลงทุนแมน
ข่าวใหญ่ที่สุดในวงการตลาดทุนไทยในตอนนี้ ที่ทุกคนต้องรู้ คือการทุจริตของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK
รู้หรือไม่ว่า บริษัทนี้เคยมีมูลค่าสูงสุด ถึง 60,000 ล้านบาท แถมเคยถูกจัดให้อยู่ในดัชนี SET100 หรือก็คือบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย 100 อันดับแรกด้วย
ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน STARK มีมูลค่าเหลือเพียง 2,000 ล้านบาท หรือมูลค่าหายไป 58,000 ล้านบาท..
นอกจากนั้น STARK ยังกู้ยืมเงินมาจากทั้งธนาคาร และผู้ซื้อหุ้นกู้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ให้ยืมระดับหมื่นล้านบาท
เรื่องราวของบริษัทนี้เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นของบริษัท STARK นั้น เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เมื่อบริษัท Phelps Dodge บริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้า สัญชาติอเมริกัน ตัดสินใจขายธุรกิจในไทยที่ประสบปัญหา
โดยผู้ที่มารับซื้อต่อก็คือ คุณวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA ด้วยมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท
แล้วทำไมทายาท TOA
ถึงเข้าซื้อกิจการผู้ผลิตสายไฟฟ้า ?
ก็ต้องบอกว่าเบื้องหลังของดีลนี้ มีผู้ช่วยคนสำคัญคือ คุณชนินทร์ เย็นสุดใจ
เขาคนนี้เป็นอดีตผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไท ที่มีประสบการณ์ในการเข้าซื้อกิจการ คอยช่วยเหลือคุณวนรัชต์ ในการเดินเกมทางธุรกิจ
โดยแต่เดิมนั้นธุรกิจของ Phelps Dodge ในไทย ประสบปัญหาขาดทุน
แต่หลังจากที่คุณวนรัชต์ เข้าไปซื้อกิจการได้เพียงไม่กี่ปี บริษัทก็เริ่มพลิกกลับมามีกำไร
จนในปี 2562 หรือราว 4 ปีก่อน คุณวนรัชต์ก็ได้ตัดสินใจนำ Phelps Dodge เข้าตลาดหุ้นไทย
แต่ไม่ใช่การเข้าด้วยท่าปกติทั่วไป ที่เราคุ้นเคยกันแบบ IPO แต่จะเป็นการเข้าตลาดหุ้นด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Reverse Takeover หรืออีกคำหนึ่งที่อาจจะคุ้นหูกว่านั้น ก็คือ Backdoor Listing แปลเป็นไทยตรงตัวเลย คือ เข้าทางประตูหลัง..
แล้วเข้าตลาดหุ้นทางประตูหลัง
มันมีวิธีการอย่างไร ?
Backdoor Listing เป็นการนำธุรกิจเข้าตลาดหุ้น ด้วยการให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้ว เข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาดหุ้น
สำหรับในกรณีของ STARK บริษัทที่เป็นตัวตั้งต้นก็คือ บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM
วิธี Backdoor Listing ของกรณีนี้ก็คือ ให้ SMM เข้าไปซื้อกิจการ Phelps Dodge
โดยที่ SMM ซึ่งทำธุรกิจสื่อนั้น ไม่ได้มีเงินสดมากพอที่จะเข้าไปซื้อกิจการของ Phelps Dodge ดังนั้น SMM จึงต้องออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับกลุ่มของคุณวนรัชต์ คิดเป็นมูลค่า 12,900 ล้านบาท
และแน่นอนว่าการที่บริษัทเล็กออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวนมากขนาดนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นรายใหม่ ก็จะทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมของ SMM มีสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทที่น้อยลงมาก หรือภาษาตลาดทุนเรียกว่า Dilution หรือที่แปลว่า เจือจาง นั่นเอง
และเรื่องนี้ก็ส่งผลให้กลุ่มของคุณวนรัชต์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SMM ไปโดยปริยาย
หลังจากเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ กลุ่มของคุณวนรัชต์ ก็จัดการ ขายกิจการเดิมของบริษัท SMM ออกไป และเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก SMM มาเป็นบริษัท STARK แทน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในช่วงแรกที่เข้าตลาด STARK ก็ดูเหมือนธุรกิจที่ดำเนินการเป็นปกติ ไม่ได้มีสัญญาณว่าจะเกิดการฉ้อโกงอะไร
จนกระทั่งปลายปี 2565 บริษัทได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่สถาบันการเงินหลายแห่ง คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อบริษัท LEONI Kabel และ LEONIsche
แล้ว LEONI ทำธุรกิจอะไร ?
LEONI เป็นธุรกิจผลิตสายไฟฟ้ารถยนต์ EV และสายไฟฟ้าที่ใช้ในสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV ในประเทศเยอรมนี
ถึงตรงนี้ STARK ก็ดูจะดำเนินธุรกิจเหมือนกิจการทั่วไปที่ชอบการควบรวมกิจการ โดยเริ่มตั้งแต่การ Backdoor เข้าตลาดหุ้น มีการประกาศเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
แต่จุดนี้เอง ที่เรื่องราวของ STARK ได้เริ่มแปลกไป เพราะในทันทีที่บริษัท ได้รับเงินเพิ่มทุนครบแล้ว ผู้บริหารของ STARK กลับยกเลิกดีล..
โดยให้เหตุผลว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน LEONI จนอาจส่งผลกระทบกับสถานะทางการเงินของบริษัท
เรื่องยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น ต่อมาเมื่อถึงกำหนดส่งงบการเงิน ประจำปี 2565 บริษัทกลับไม่ส่งงบการเงินตามกำหนด ทำให้หุ้นถูกขึ้นเครื่องหมาย SP และถูกพักการซื้อขายเป็นเวลา 3 เดือน
โดยในช่วงเวลาที่หุ้นถูกพักการซื้อขายเป็นเวลา 3 เดือน ก็มีรายงานว่า คุณชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการบริษัท พร้อมกับผู้บริหารอีกหลายคนต้องลาออกไป
โดยมีคุณวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รับตำแหน่งเป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน พร้อมกับออกมายอมรับว่า บริษัทอาจมีการฉ้อโกงทางบัญชีเกิดขึ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทก็ออกมาเรียกร้องให้บริษัทคืนเงินกู้ยืมมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท
และเมื่อถึงวันที่หุ้นกลับมาเปิดให้ซื้อขายเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง ราคาหุ้นก็ปรับตัวลดลงมากถึง 90% ภายในวันเดียว
ต่อมาบริษัทแจ้งว่าได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อติดตามทรัพย์สินของบริษัทคืน รวมถึงบริษัทได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) ซึ่งนั่นก็แปลว่า บริษัทยอมรับแล้วว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นที่มีความเสียหายจำนวนมากเกิดขึ้นกับบริษัท..
หากเราดูงบการเงินของ STARK ในช่วงที่ผ่านมา เราจะสังเกตเห็นความผิดปกติ หรือความเสี่ยงอะไรได้บ้าง ?
1. บริษัทมีหนี้สูง
บริษัทมีหนี้สินสำคัญคือ
- หุ้นกู้ 6,700 ล้านบาท
- หนี้เงินกู้ยืมธนาคาร 8,600 ล้านบาท
ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้น ของบริษัทอยู่ที่ 8,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหนี้ที่มีดอกเบี้ย จะคำนวณ D/E ได้ 1.8 เท่า
2. บริษัทมีปัญหาเรื่องวงจรเงินสด
บริษัทเริ่มมีระยะเวลาขายสินค้า และระยะเวลาเก็บหนี้ที่นานขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาต่อ เงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ ซึ่งทำให้บริษัทอาจจะต้องกู้เงินมา เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง
คำถามที่ชวนสงสัยต่อนักลงทุนก็คือ ถ้าในเมื่อบริษัท ดูมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในการทำธุรกิจ แล้วบริษัทเอาเงินจากที่ไหน มาหมุนเวียนในการทำธุรกิจ ?
คำตอบก็คือ เงินกู้ยืม นั่นเอง
โดยที่ผ่านมา STARK มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และการออกหุ้นกู้ มาอย่างต่อเนื่อง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า พวกเราน่าจะเข้าใจถึงเรื่องราวของบริษัท STARK ตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่า บริษัทมาจากไหน และมาถึงจุดที่บริษัท เป็นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร
บทความนี้ก็น่าจะเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ดี ที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องของความเสี่ยง ที่จะอยู่คู่กับการลงทุนเสมอ ไม่ว่าเราจะลงทุนในอะไร
อย่างกรณีของ STARK ที่มีรายชื่อผู้ถือหุ้น เป็นทั้งบุคคล และกองทุนที่น่าเชื่อถือ มีมูลค่าระดับหมื่นล้านบาท และบริษัทอยู่ใน SET100 ซึ่งแปลว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่สุดเป็น 100 บริษัทแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แต่ในวันนี้กลับถูกพบว่า ทุจริต และทำให้มูลค่าหายไปจนแทบไม่เหลืออะไร
และสำหรับคนที่ถือหุ้น STARK เหตุการณ์นี้คงเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้ขาดทุนมากที่สุดในชีวิตการลงทุนของท่าน เพราะมูลค่าหุ้นที่ถืออยู่ได้หายไป -90%
สิ่งที่ท่านควรทำต่อไป ก็คงไม่ใช่มานั่งเสียใจ เฝ้ารอว่ามันจะกลับมาจุดเดิมได้หรือไม่ แต่เป็นการนำกรณีศึกษานี้มาเป็นบทเรียนให้เราได้คิด และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีกในอนาคต
และเมื่อเราสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ดีขึ้นในอนาคต ผลลัพธ์มันอาจจะมากกว่ามูลค่าที่เสียไปก็เป็นได้
รู้หรือไม่ว่า คุณชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการ STARK (หนึ่งในบุคคลสำคัญของเหตุการณ์นี้) เคยให้สัมภาษณ์ว่า ที่เขาตั้งชื่อ STARK ก็เพราะว่านำมาจาก Tony Stark ตัวละครใน Marvel
ซึ่งสิ่งที่ Tony Stark ได้พูดใน Avengers: Endgame ก็น่าจะย้อนกลับมาเป็นข้อคิดในเหตุการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี..
“It's not about how much we lost. It's about how much we have left.”
“มันไม่เกี่ยวว่าเราสูญเสียไปเท่าไร มันสำคัญที่สิ่งที่เราเหลืออยู่ต่างหาก” - Tony Stark
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://fintel.io/doc/sec-general-cable-corp-de-886035-10k-2016-february-29-18771-5282
-https://member.set.or.th/set/pdfnews.do?newsId=15626294328371&sequence=2019066856
-https://www.longtunman.com/22950
-https://weblink.set.or.th/dat/news/202205/22066652.pdf
-https://weblink.set.or.th/dat/news/202212/22145601.pdf
-https://www.youtube.com/watch?v=ZHQhXedaPl4
-หนังสือ Gone Fishing with Buffett (2012) โดย Sean Seah
-หนังสือ Getting Started in Value Investing (2007) โดย Charles S. Mizrahi
-https://www.billionmoney.com/8998
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/STARK/news
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.