กรณีศึกษา “คนละครึ่ง” การ transform มาตรการเยียวยาของภาครัฐ

กรณีศึกษา “คนละครึ่ง” การ transform มาตรการเยียวยาของภาครัฐ

16 มี.ค. 2021
กรณีศึกษา “คนละครึ่ง” การ transform มาตรการเยียวยาของภาครัฐ /โดย ลงทุนแมน
หลายครั้งที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติ
และสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับวิกฤติทุกครั้งนั้นคือ มาตรการเยียวยาจากภาครัฐ
และก็มีหลายครั้งเช่นกัน ที่เงินเยียวยากลับไม่ถึงมือประชาชนที่เดือดร้อนอย่างทั่วถึง
เมื่อต้องผ่านหลายขั้นตอนจนทำให้เกิดช่องว่าง การคอร์รัปชันได้ง่าย
เป็นเรื่องที่หลายฝ่าย เฝ้าจับตามองมานานว่าเมื่อไร
การเยียวยาจากภาครัฐ จะมีระบบโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
ที่สำคัญสุดคือสามารถช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างแท้จริง
จนเมื่อการระบาดของโควิด 19 ได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทย
อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐบาล จำเป็นต้องงัดนโยบายสารพัดรูปแบบ
เพื่อไม่ให้อะไร ๆ มันเสียหายไปมากกว่านี้
แล้วหนึ่งในการเยียวยาที่รักษาบาดแผลทางเศรษฐกิจไทยที่น่าสนใจ
ก็คือ “คนละครึ่ง”
แล้วเคยสงสัยบ้างไหม โครงการนี้ มีระบบตรวจสอบความโปร่งใส อย่างไร
สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย ได้มหาศาลแค่ไหน
ที่น่าสนใจที่สุด คนละครึ่ง ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายคนไทยทั้งประเทศ อย่างไร
ลงทุนแมน จะวิเคราะห์ให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่านและนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเรามาสรุปสั้น ๆ ให้เห็นภาพกันก่อนว่าการระบาดของโควิด 19
ได้สร้างความเสียหายมากแค่ไหน
รู้หรือไม่ว่า ปีที่ผ่านมา GDP ประเทศไทยติดลบเกือบ 7%
การติดลบขนาดนี้ เราไม่ได้เห็นมานานหลายสิบปีนั้บตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540
ขณะที่ ธุรกิจสายการบิน, โรงแรม, ร้านอาหาร ต้องปลดพนักงานเพื่อความอยู่รอด
จนทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมหาศาล อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หรือแม้แต่คนที่มีงานทำก็ถูกบริษัทปรับลดเงินเดือน

ฟังดูแค่นี้ก็น่าจะพอนึกภาพออกแล้วว่า กำลังซื้อภายในประเทศลดลงอย่างมหาศาล
การใช้จ่ายเงินของคนไทยขาดสภาพคล่อง
ผลที่ตามมาคือ ระบบเศรษฐกิจไทยเหมือนกำลัง “กลั้นหายใจ”

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการให้ ออกซิเจน อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ

แล้วใครจะมาช่วยให้ภารกิจครั้งนี้ของรัฐบาลประสบความสำเร็จ ?
โดยตั้งอยู่บนโจทย์คือต้องรวดเร็ว, โปร่งใส และกระจายรายได้ไปยังประชาชนที่มีรายได้น้อย
ซึ่งเป็นฐานหลักของประเทศไทย
คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ ธนาคารกรุงไทย เพราะเปรียบเสมือนเป็นธนาคารตัวแทนของรัฐ
ที่คอยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ในการช่วยเหลือคนไทยและระบบเศรษฐกิจ
นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารเมื่อ 55 ปีที่แล้ว

นั่นแปลว่า..ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนหน้าเป็นใคร
ธนาคารกรุงไทย ก็จะทำงานให้กับทุกรัฐบาล

โดยภารกิจครั้งนี้ของธนาคารกรุงไทยก็คือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบเงินดิจิทัลครอบคลุมทั่วประเทศ โดยให้เงินจากมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ของรัฐบาล ขับเคลื่อนอยู่ในระบบที่สร้างขึ้นมา

ซึ่ง “คนละครึ่ง” ก็เป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่มาอยู่บนระบบที่ธนาคารกรุงไทยสร้างขึ้นมา นั่นเอง

ที่น่าสนใจคือเมื่อข้อมูลทุกอย่างถูกขับเคลื่อนบนโครงสร้างดิจิทัล
ก็จะมีการบันทึกทุกข้อมูลการเคลื่อนไหวของเงินเยียวยาได้ เหมือนเป็นหลักฐานตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการ “คนละครึ่ง” ไปในตัว เพราะทุกเม็ดเงินที่ใช้จ่ายจะเกิดหลักฐานขึ้นว่าเงินเดินทางไปจากไหน และใครได้รับ

และที่เป็นการฉีดยากระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีที่สุดก็คือ ไอเดีย ของโครงการนี้
ปฎิเสธ ไม่ได้ว่า จิตใต้สำนึกของเราทุกคนต้องการซื้อสินค้าราคาถูกที่สุด
แล้วอยู่มาวันหนึ่งมีคนมาบอกว่า ซื้อสิ เดี๋ยวช่วยจ่าย 50% มันเป็นอะไรที่เราต้องหันมามอง

แล้วรัฐบาลก็หยิบเอา พื้นฐานง่าย ๆ ตรงนี้มาเป็นคอนเซปต์ของคนละครึ่ง
พร้อมวางระบบใช้จ่ายทุกอย่างอยู่บน ดิจิทัล โดยมีข้อแม้ว่าต้องใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก

อธิบายคือหากเราเป็นผู้ซื้อ เมื่อลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ คนละครึ่ง แล้วได้รับการยืนยัน
ก็โหลด App "เป๋าตัง" พร้อมกับใส่เงินลงไปใน App เท่าไรก็ได้
แล้วเมื่อเราไปซื้อสินค้าจากร้านค้ารายย่อยที่รวมโครงการก็จะมี App “ถุงเงิน”

จากนั้นสแกน QR Code จากร้านค้า หากสินค้า 100 บาท เราจะจ่ายเงิน 50 บาท
อีก 50 บาททีเหลือคือรัฐบาลออกให้ โดยสามารถใช้สิทธิได้ 150 บาทต่อวัน
แต่ไม่เกิน 3,000 บาทในเฟสแรก ส่วนเฟสสองคือ 3,500 บาท

จะเห็นได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ถูกใจของทั้ง 2 ฝ่าย
ผู้ซื้อ Happy ได้สินค้าราคาถูก
ร้านค้าข้างทางขายสินค้าได้จำนวนมากขึ้นกว่าเดิม

โดยเวลานี้มีจำนวนผู้ใช้ App คนละครึ่งกว่า 15 ล้านคน
ที่น่าสนใจคือแม้รัฐบาลจะใช้เงินไปกับโครงการนี้ 50,000 ล้านบาท
ซึ่งหมายความว่าคน 15 ล้านคนจะใช้จ่ายไป 50,000 ล้านบาทร่วมกับโครงการนี้เช่นกัน
สรุปก็คือ มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท

ที่น่าสนใจคือเงินจำนวนนี้ เป็นการหมุนเวียนในระบบฐานล่างของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
เพราะรู้หรือไม่ กฎเหล็กของ “คนละครึ่ง” คือรับเฉพาะร้านค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา
อย่างเช่น ร้านอาหารริมทาง, ร้านโชห่วย, ร้านรถเข็น, พ่อค้าแม่ค้าตามตลาด เป็นต้น

แล้วเมื่อร้านค้าเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้นก็นำไปจับจ่ายใช้สอย
ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแท้จริง

แล้วเรื่องนี้มันยังมีอะไรที่น่าสนใจกว่านั้น ซ่อนอยู่
เคยคิดกันบ้างไหม ก่อนการระบาดโควิด 19 และก่อนมีโครงการ “คนละครึ่ง”
พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด, หาบเร่แผงลอย, ร้านโชห่วยทั่วประเทศ
จะยินยอมเปลี่ยนพฤติกรรมซื้อขาย ด้วยเงินสด ที่ตัวเองคุ้นเคยมาตลอดชีวิต

คำตอบคือ ส่วนใหญ่ไม่คิดจะเปลี่ยนเพราะรู้สึกว่า เงินสด อุ่นใจกว่า
แต่เมื่อโควิด 19 เกิดขึ้น พฤติกรรมคนใช้จ่ายเงินผ่าน App ต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ
รวมไปถึงโครงการ “คนละครึ่ง” ก็ต้องผ่าน App เช่นกัน

พอเป็นแบบนี้จากที่เคยรับเป็นเงินสดก็ต้องเปลี่ยนเป็นเงินดิจิทัล
สุดท้ายก็ค่อย ๆ กลายเป็นความคุ้นชินกับระบบเงินดิจิทัล ไปอย่างไม่รู้ตัว

ซึ่งหากเหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องใช้เวลานานเท่าไร
กว่าที่ชาวบ้านคนทั่วไปจะยอมเปิดใจกับสังคมไร้เงินสด

จนถึงมีข้อมูลมาว่าบริษัทขายอุปกรณ์ไอทีในตลาดหลักทรัพย์บางรายมีรายได้เติบโตขึ้นเพราะคนซื้อสมาร์ตโฟนเพิ่มขึ้นมากเพราะอยากเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคนละครึ่งจะประสบความสำเร็จเพียงใด หรือต่อให้ทางภาครัฐจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนานแค่ไหน
มันก็คงทำได้เพียงแค่ประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยเลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่..

คนที่จะพลิกเกมวิกฤติครั้งนี้ ให้เศรษฐกิจไทยกลับมาสู่จุดที่มันควรจะเป็น
ก็คือเราคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันจับจ่ายใช้สอย และลงทุน ผลิตสินค้า บริการ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงปัจจัยภายนอก นั่นก็คือนักท่องเที่ยวกลับเข้าเที่ยวบ้านเรามากเหมือนช่วงก่อนหน้านี้..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่านและนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=QGDP_report
-ข้อมูลจากกระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทย จำกัด มหาชน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.