วิเคราะห์ MAKRO หลังรับโอนกิจการโลตัสส์ จะเป็นอย่างไร ?

วิเคราะห์ MAKRO หลังรับโอนกิจการโลตัสส์ จะเป็นอย่างไร ?

7 ต.ค. 2021
วิเคราะห์ MAKRO หลังรับโอนกิจการโลตัสส์ จะเป็นอย่างไร ?
MAKRO x ลงทุนแมน
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน หนึ่งในข่าวใหญ่ในวงการตลาดหุ้นไทย คงหนีไม่พ้นการปรับโฉมทางธุรกิจระหว่างบริษัทในเครือซีพี ที่จะทำการโอนกิจการของโลตัสส์ให้กับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO
ภายหลังจากการรับโอนกิจการ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ MAKRO จะเป็นเจ้าของโลตัสส์ทั้งหมดในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย
โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของโลตัสส์ได้แก่ CPALL CPM และ CPH จะมาเป็นผู้ถือหุ้นของ MAKRO ซึ่งก็จะทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเดิมของ MAKRO ถูก Dilute ความเป็นเจ้าของลงประมาณครึ่งหนึ่ง
แล้วภายหลังจากโอนกิจการกันแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อไป ?
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
ภายหลังจากที่การโอนกิจการแล้วเสร็จนั้น MAKRO ที่กลายเป็นเจ้าของกิจการโลตัสส์ทั้งหมด จะสามารถ Consolidate หรือนำรายได้และกำไรของโลตัสส์เข้ามารวมอยู่ในงบการเงินได้ทันที
หากเรามาดูรายได้ กำไรของ MAKRO และโลตัสส์
ปี 2563
บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
รายได้รวม 2.2 แสนล้านบาท กำไร 6.5 พันล้านบาท
บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในกิจการโลตัสส์ ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย
มีรายได้รวมเสมือน 2.1 แสนล้านบาท กำไรรวมเสมือน 1.8 พันล้านบาท
หมายความว่าหลังจากการรับโอนกิจการ MAKRO จะกลายเป็นบริษัท ที่มีรายได้รวมระดับ 4 แสนล้านบาท หากอ้างอิงจากผลประกอบการตามงบการเงินรวมเสมือนในปีที่ผ่านมา
ที่น่าสนใจก็คือผลประกอบการในปีที่ผ่านมาของโลตัสส์
นับเป็นปีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้ว
หากโลตัสส์ สามารถฟื้นตัวได้เร็วและสามารถกลับไปทำกำไรได้เท่ากับในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19
โดยในปีนั้น โลตัสส์มีกำไรรวมเสมือนราว 8.3 พันล้านบาท ซึ่งมีกำไรมากกว่าหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับกำไรของโลตัสส์ในปีที่ผ่านมา
เท่ากับว่าการโอนกิจการครั้งนี้ ก็อาจทำให้ MAKRO มีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต หากสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง

ซึ่งนอกจากรายได้และกำไรที่นำมาควบรวมแล้ว
ส่วนของหนี้สินของโลตัสส์ ก็จะถูกนำมารวมใน MAKRO ด้วย เช่นกัน
ทีนี้ เรามาดูต่อกันว่าโลตัสส์มีฐานะทางการเงิน เป็นอย่างไร ?
ฐานะทางการเงินรวมเสมือนของบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด สำหรับปี 2563
สินทรัพย์รวมเสมือน 4.1 แสนล้านบาท
หนี้สินรวมเสมือน 2.1 แสนล้านบาท
ส่วนของผู้ถือหุ้นรวมเสมือน 2.0 แสนล้านบาท
จากตรงนี้ จะเห็นได้ว่าตัวธุรกิจของโลตัสส์เอง มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
1.0 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
พอเห็นแบบนี้แล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่า
มีเหตุผลอะไรที่ต้องโอนกิจการโลตัสส์มาให้ MAKRO ?
เหตุผลแรกที่เป็นไปได้ก็อาจเป็นเพราะ ผู้ถือหุ้นเดิม อย่าง CPALL และ CPF ที่ถือโลตัสส์ผ่าน CPM ปัจจุบันมีระดับหนี้สินต่อทุนสูงอยู่แล้ว
การที่โอนกิจการโลตัสส์ไปให้บริษัทในเครือ ในที่นี้ก็คือ MAKRO ที่แทบไม่มีหนี้เลย
ก็ถือเป็นการปรับโครงสร้างการถือหุ้นภายในกลุ่มบริษัทที่ทำให้ CPALL และ CPF มีเสถียรภาพทางการเงินเพิ่มขึ้น และมีความคล่องตัวในการขยายกิจการของตัวเองมากขึ้น
นอกจากนั้น การที่โลตัสส์มีธุรกิจที่สนับสนุนกันกับ MAKRO อยู่แล้ว
การนำทั้ง 2 บริษัท ที่จริง ๆ แล้ว มีเจ้าของเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน
ก็อาจจะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าจากการเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน (Synergy) ได้ง่ายกว่าต่างคนต่างอยู่
ตัวอย่างเช่น การบริหารค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ
ที่ก่อนหน้านี้อาจมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ให้มีความซ้ำซ้อนน้อยลง
ทั้งด้านโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า การบริหารคลังสินค้า และการจัดหาแหล่งสินค้า
นอกจากนั้น ยังทำให้ MAKRO มีความพร้อมในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น
เพราะ เมื่อบริษัทมีทั้ง 2 แบรนด์ เมื่อมาอยู่ด้วยกัน จะเพิ่มความหลากหลายในรูปแบบหน้าร้านและโมเดลการขยายสาขา
บริษัทจะมีตัวเลือกของ “รูปแบบของร้านค้า” ที่จะนำไปใช้ได้มากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นร้านขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ไปจนถึงระดับซูเปอร์สโตร์ หรือ แบบขายส่ง
เช่น Lotus’s Go Fresh Makro Food Service ไปจนถึงร้านไฮเปอร์มาเก็ตโลตัสส์ หรือ ร้านค้าส่ง Makro
ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งบริษัทมีตัวเลือกมากเท่าไร
บริษัทก็จะสามารถนำเสนอรูปแบบของร้านค้าให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค
ที่แตกต่างกันได้มากขึ้น ตามแต่ละประเทศที่จะเข้าไปลงทุนได้
ซึ่งจะทำให้บริษัทขยายธุรกิจได้ไวและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เช่นกัน
นอกเหนือจากเรื่องของผลประกอบการและธุรกิจที่คล้ายกันแล้ว
อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลย ก็คือ “หุ้นของ MAKRO”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา MAKRO เรียกได้ว่าเป็นหุ้นที่แทบจะไม่ค่อยถูกพูดถึงสักเท่าไร
เนื่องจากเป็นหุ้นที่มี Free Float หรืออัตราส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนรายย่อยที่ต่ำ
โดยต่ำในระดับที่ไม่ผ่านเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเกณฑ์การลงทุนของนักลงทุนสถาบัน
แต่หลังจากการโอนกิจการแล้ว เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ก็คือ
- MAKRO จะรับโอนกิจการโลตัสส์ มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท และออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement หรือ PP) จำนวนไม่เกิน 5,010,323,500 หุ้น เพื่อชำระเป็นค่าตอบแทนการรับโอนกิจการให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของโลตัสส์
- CPH และ CPM จะทำคำเสนอซื้อหุ้น MAKRO ราคาหุ้นละ 43.50 บาทต่อหุ้น ในสัดส่วน 2 ใน 3 และ 1 ใน 3 (ตามลำดับ) ของจำนวนหุ้นที่มีผู้ตอบรับคำเสนอซื้อ
รวมกันคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 3.39 ของหุ้นสามัญที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ MAKRO
ภายหลังธุรกรรมการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อตอบแทนการรับโอนกิจการทั้งหมด
- MAKRO จะทำการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering หรือ PO) จำนวนไม่เกิน 1,362,000,000 หุ้น เพื่อเพิ่ม Free Float แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องการซื้อขาย

หมายความว่าหลังจากนี้ สิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือบทบาทของ MAKRO ในตลาดหุ้นที่จะมีมากขึ้น ตามสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น นั่นเอง
ด้วยสภาพคล่องที่เป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และมูลค่ากิจการของ MAKRO ที่เพิ่มขึ้นจากการมีกิจการโลตัสส์รวมเข้ามา ก็จะทำให้นักลงทุนทั้งสถาบันไทยและต่างประเทศ เช่น กองทุนต่าง ๆ สามารถเข้ามาลงทุนได้
ซึ่ง MAKRO ก็น่าจะติดอันดับ 1 ใน 10 บริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันที และทำให้มีโอกาสถูกนำไปคำนวณในดัชนี SET50
จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ก็เรียกได้ว่าเครือซีพี ได้ใช้เครื่องมือในตลาดทุนได้อย่างคุ้มค่า
ซึ่งเราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ภายหลังจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง
กิจการโลตัสส์จะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่
และการโอนกิจการของโลตัสส์มายัง MAKRO จะสร้างการเติบโตแบบไหนให้กับเครือซีพีได้บ้าง
รวมถึงบทบาทของหุ้น MAKRO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ก็ถือเป็นอีกประเด็น ที่น่าติดตามไม่น้อยเลยทีเดียว..
คำเตือน: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อ หรือขายหุ้นนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.