Evan Spiegel เจ้าของ Snapchat ที่ไม่ยอมขายกิจการ ให้เฟซบุ๊ก

Evan Spiegel เจ้าของ Snapchat ที่ไม่ยอมขายกิจการ ให้เฟซบุ๊ก

17 ต.ค. 2021
Evan Spiegel เจ้าของ Snapchat ที่ไม่ยอมขายกิจการ ให้เฟซบุ๊ก /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงนักธุรกิจหนุ่มในวงการเทคโนโลยี ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
หลายคนอาจนึกถึง Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook
แต่อีกคนหนึ่งที่มีเส้นทางคล้าย ๆ กัน ก็คือ คุณ “Evan Spiegel” เจ้าของ Snapchat
ซึ่งเขาคนนี้ ก็ได้กลายมาเป็นมหาเศรษฐีระดับ Billionaire
หรือผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี
แล้วรู้หรือไม่ว่า Spiegel เคยปฏิเสธข้อเสนอการเข้าซื้อกิจการจาก Mark Zuckerberg
จนสุดท้าย Facebook ต้องพัฒนาบริการรูปแบบที่คล้ายกันกับ Snapchat มาแข่งขัน
เรื่องราวของชายคนนี้ น่าสนใจอย่างไร
แล้ว Snapchat เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลแบบไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
คุณ Spiegel เป็นนักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่เกิดเมื่อปี 1990 ปัจจุบันมีอายุ 31 ปี
คุณ Spiegel เป็นหนึ่งในคนที่หลงใหลในเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก
โดยเขาสามารถประกอบคอมพิวเตอร์ใช้งานเองได้ ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
เมื่อโตขึ้น คุณ Spiegel เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์
ที่นั่น ทำให้เขามีโอกาสฟังบรรยายจากผู้ประกอบการหลายรายและมีโอกาสได้ฝึกงาน
พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จนเกิดแรงบันดาลใจให้เขาอยากสร้างกิจการเป็นของตัวเอง
เขาจึงชวนเพื่อนชื่อว่าคุณ Bobby Murphy ให้ทดลองพัฒนาแพลตฟอร์ม
ที่ให้บริการด้านการสมัครเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ต่อมา ทั้งคู่ได้พบกับคุณ Reggie Brown และพูดคุยกันเล่น ๆ ว่าอยากจะลบรูปภาพที่ส่งไปให้เพื่อนผู้หญิง ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าประโยคดังกล่าว จะจุดประกายให้คุณ Spiegel เกิดไอเดียทำธุรกิจ
แล้วไอเดียที่ว่านั้น คืออะไร ?
ไอเดียนั้น ก็คือการสร้างแอปพลิเคชันแชร์รูปภาพ ที่รูปจะหายไปในเวลาไม่นาน

พวกเขาจึงทำโปรเจกต์นำเสนอในชั้นเรียน แต่ผลปรากฏว่าคนส่วนใหญ่กลับหัวเราะเยาะ
เพราะมองว่าไม่น่ามีใครอยากใช้งานแอปพลิเคชันลักษณะนี้สักเท่าไร หรืออาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี
อย่างไรก็ตาม ทั้งสามคนก็ยังตัดสินใจเดินหน้าต่อไป และในที่สุด พวกเขาก็ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มแชร์รูปภาพ ที่ชื่อว่า Picaboo ในปี 2011 แต่ในช่วงแรกนั้น Picaboo ไม่เป็นที่นิยมและมีผู้ใช้งานเพียง 127 คน
ต่อมาไม่นาน ก็ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คน
เรื่องสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการ จนทำให้คุณ Brown ถูกตัดออกจากทีมไป
ณ ตอนนี้ จึงเหลือผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการ 2 คน
โดยคุณ Spiegel รับตำแหน่งเป็นซีอีโอของบริษัทและได้เปลี่ยนชื่อแพลตฟอร์มใหม่เป็น “Snapchat”
เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่ Snapchat ต้องการนำเสนอมากขึ้น ซึ่ง Snapchat ก็เริ่มได้รับความนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น
เนื่องจากแอปพลิเคชันนี้ เรียกได้ว่าเป็นโซเชียลมีเดียแบบใหม่ ที่ทำให้เราสามารถถ่ายรูปชีวิตประจำวัน
ส่งให้เพื่อนดูได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องกังวลอะไรมากนัก เพราะไม่นานรูปก็หายไป
ทำให้ในปี 2012 จำนวนผู้ใช้งานของ Snapchat เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านบัญชีต่อวัน
จุดนี้เอง ก็ได้ทำให้คุณ Spiegel ลาออกจากมหาวิทยาลัย
เพื่อมาบริหารธุรกิจเต็มตัว ทั้ง ๆ ที่ใกล้จะเรียนจบแล้ว
และเมื่อลาออกมาโฟกัสกับธุรกิจเต็มที่ คุณ Spiegel เลยมีเวลาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย
หนึ่งในนั้นคือ ฟีเชอร์ “Stories” ที่ให้ผู้ใช้งานโพสต์รูปภาพหรือวิดีโอ
ลงบนฟีดโซเชียลของ Snapchat ได้ โดยคอนเทนต์จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง
ด้วยความแปลกใหม่นี้ ธุรกิจของ Snapchat จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง Snapchat ก็ต้องเผชิญกับ 2 เหตุการณ์สำคัญ
เรื่องแรกคือ คุณ Reggie Brown ที่แยกทางกันไปก่อนหน้านี้ กลับมายื่นฟ้องร้องบริษัท โดยอ้างว่าไอเดียการแชร์รูปที่หายไปได้ มีจุดเริ่มต้นมาจากเขา ซึ่งสุดท้ายเขาชนะคดี ได้รับเงินชดเชยกว่า 5.3 พันล้านบาท
เรื่องที่สองคือ ความร้อนแรงของ Snapchat ได้ไปเข้าตา Mark Zuckerberg ทำให้ Facebook ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ Snapchat ในปี 2013 ด้วยเงินมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คุณ Spiegel ตอบปฏิเสธไป เพราะต้องการทำธุรกิจในระยะยาวมากกว่า
และมองว่า Snapchat น่าจะมีโอกาสพัฒนาแพลตฟอร์ม ให้เติบโตได้อีกมากในอนาคต
ซึ่งดูเหมือนว่าเขาคิดถูก เพราะในการระดมทุนเมื่อปี 2015
นักลงทุนได้ประเมินมูลค่าธุรกิจของ Snapchat ไว้อยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท
ส่งผลให้คุณ Spiegel ที่ขณะนั้นมีอายุ 25 ปี กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับ Billionaire ทันที
แต่ผลกระทบที่ตามมาหลังจากการไม่ขายกิจการให้ Facebook ก็คือการที่ Facebook หันมาพัฒนาบริการเพื่อเข้ามาแย่งเวลาจากหน้าฟีด Snapchat โดยตรง ด้วยการเปิดตัวฟีเชอร์ “Instagram Stories” ในปี 2016 ซึ่งเหมือนกับ Snapchat Stories แทบทุกอย่าง

ถึงแม้เรื่องนี้ ทำให้การเติบโตของ Snapchat ชะลอตัวลงบ้าง แต่คุณ Spiegel ก็มองในแง่ดีว่า การที่ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Facebook ทำตาม เท่ากับว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีคุณภาพที่ดีจริง
รวมทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เขาพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นฟิลเตอร์รูปและการนำเอาเทคโนโลยีจำลองภาพเสมือน (Augmented Reality) มาตกแต่งรูป หรือแม้แต่ การต่อยอดไปผลิตแบรนด์แว่นตาอัจฉริยะที่มีกล้องในตัว ชื่อว่า “Spectacles”

ซึ่งต่อมาในปี 2017 บริษัทก็ได้ระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
โดยวันแรกของการซื้อขาย Snapchat มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 1.1 ล้านล้านบาท
และผ่านมาถึงปัจจุบัน Snapchat มีฐานผู้ใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 293 ล้านบัญชีต่อวัน
โดยบริษัทก็มีแหล่งรายได้มาจากค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์ม
หากเรามาดูการเติบโตของบริษัท Snapchat
ปี 2018 รายได้ 40,000 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 58,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45%
ปี 2020 รายได้ 84,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45%
จะเห็นได้ว่า Snapchat ยังคงเติบโตแบบต่อเนื่อง
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะโดน Instagram Stories เข้ามาแย่งส่วนแบ่ง
ปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านล้านบาท
ทำให้คุณ Spiegel ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินราว 4.6 แสนล้านบาท
ซึ่งก็ได้ทำให้เขาเป็นบุคคลร่ำรวยอันดับ 197 ของโลก เลยทีเดียว
จากเรื่องราวทั้งหมดของ Snapchat จะเห็นได้ว่า
ในบางครั้ง การที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากความรู้ความสามารถแล้ว
อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ความเชื่อมั่นในแนวคิดของตัวเอง ให้ถึงที่สุด
อย่างในกรณีของ คุณ Spiegel
ที่แม้ว่า Facebook จะเสนอเงินแสนล้านมากองไว้ตรงหน้า
เพื่อแลกกับ Snapchat แต่เขาและผู้ร่วมก่อตั้ง ก็ได้ปฏิเสธไป
เพราะเชื่อมั่นว่าไอเดียนี้แหละ ที่จะเติบโตไปได้อีกมากในอนาคต
ซึ่งก็รวมไปถึงเหตุการณ์ต่อมา
ในวันที่เขาต้องเจอเข้ากับการลอกเลียนแบบจาก Instagram
แต่คุณ Spiegel กลับคิดในมุมที่ว่าไอเดียที่เขาเชื่อมั่นนั้นมันเจ๋งจริง
ขนาดที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ยังต้องมี
จากความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของเขา ที่เลือกที่จะเชื่อในศักยภาพของธุรกิจ
ที่สร้างขึ้นมากับมือ ก็ได้ทำให้เขายังสามารถต่อยอดไอเดียใหม่ ๆ
หนึ่งในนั้นก็คือ “Stories” ที่เรียกได้ว่าเป็นอีกฟีเชอร์ที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
การแชร์ชีวิตประจำวันของผู้คนในโลกโซเชียล มาถึงทุกวันนี้ ก็ว่าได้
ซึ่งก็ไม่แปลกเลย ที่คุณ Evan Spiegel จะประสบความสำเร็จ
และก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐี ตั้งแต่มีอายุได้เพียงแค่ 25 ปี เท่านั้น..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.businessinsider.com/fabulous-life-and-career-of-snap-ceo-evan-spiegel
-https://www.businessinsider.com/the-rise-of-snapchat-from-a-stanford-frat-house-to-a-3-billion-ipo-2017-1
-https://www.businessinsider.com/report-snapchat-raising-at-19-billion-valuation-2015-2
-https://www.forbes.com/profile/evan-spiegel/?sh=34620cfc529c
-https://www.theceomagazine.com/business/coverstory/snapchat-evan-spiegel/
-https://www.cnbc.com/2017/03/09/facebook-copies-snapchat-examples.html
-https://www.statista.com/statistics/545967/snapchat-app-dau/
-https://finance.yahoo.com/quote/SNAP/financials?p=SNAP
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.