กรณีศึกษา ศรีลังกา กำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจ หนักสุดในรอบหลายทศวรรษ

กรณีศึกษา ศรีลังกา กำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจ หนักสุดในรอบหลายทศวรรษ

14 มี.ค. 2022
กรณีศึกษา ศรีลังกา กำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจ หนักสุดในรอบหลายทศวรรษ /โดย ลงทุนแมน
แม้ตอนนี้สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
เป็นเหตุการณ์ที่หลายคนกำลังจับตามองอยู่
แต่รู้หรือไม่ว่า อีกฟากหนึ่งของโลก ในแถบเอเชียใต้
กำลังมีประเทศหนึ่ง ที่เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมากที่สุด ครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ
ประเทศที่เรากำลังพูดถึง คือ “ศรีลังกา”
ศรีลังกา กำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจอะไรอยู่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ศรีลังกา เป็นประเทศที่เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย
โดยก่อนที่จะมาใช้ชื่อว่า “ศรีลังกา” ประเทศนี้เคยมีหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ลังกา, ลังกาทวีป, สิงหลทวีป และซีลอน ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในสมัยอาณานิคม
ในอดีต ศรีลังกา เคยตกเป็นอาณานิคมของหลายประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส, ฮอลันดา และอังกฤษ
ศรีลังกา มีพื้นที่ 65,610 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นเพียง 13% ของพื้นที่ประเทศไทย
มีประชากรประมาณ 22 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีที่ 126,400 บาท
หลังจากศรีลังกา ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948
เศรษฐกิจของศรีลังกาได้เติบโตอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากมีการพัฒนาท่าเรือสมัยใหม่ ประกอบกับจุดเด่นในเรื่องที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นเกาะ จึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเล
รัฐบาลของศรีลังกายังได้พยายามเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่เน้นเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม มามุ่งเน้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
มีสวัสดิการให้แก่ประชาชน จนในช่วงปลายทศวรรษ 1960 นั้น GDP ของประเทศเติบโตเฉลี่ยปีละราว ๆ 6%
ในปี 1977 ศรีลังกา เริ่มนำระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีมาปรับใช้
มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ทั้งยังส่งเสริมวิสาหกิจเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น
แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตช้าลงบ้างในบางช่วง
เนื่องจากความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมือง
แต่ในภาพรวม การเติบโตของ GDP เฉลี่ยต่อปีของศรีลังกา ก็ยังมากกว่า 5% ในช่วงปี 1991-2000
จนกระทั่งเข้าสู่ทศวรรษ 2000
ในปี 2001 GDP ของศรีลังกานั้น หดตัว 1.4% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรก นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ
เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ
ทั้งภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก
รวมไปถึงเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้นในประเทศ
ขณะที่รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่ถูกแปรรูปมาก่อนหน้านี้ บางแห่งนั้นมีจำนวนพนักงานมากเกินไป ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
เมื่อรวมกับการทุจริตที่สั่งสมมาเรื่อย ๆ ก็ทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นขาดทุนมหาศาล จนเป็นภาระด้านการเงินของรัฐบาล
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน จนทำให้สหภาพยุโรปเพิกถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร
รวมทั้งขึ้นอัตราภาษีสินค้าส่งออกของศรีลังกาที่ไปขายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จนส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศ
อีกประเด็นที่สำคัญคือ ศรีลังกานั้น เป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ ศาสนา จนหลายครั้งนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางชนชาติ
เนื่องจากในช่วงที่อังกฤษยังปกครองศรีลังกานั้น มีการนำชาวทมิฬจากอินเดียเข้ามาทำงานในภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก
จนเมื่อศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลศรีลังกาที่เป็นชาวสิงหลก็ผ่านกฎหมายหลายฉบับที่กีดกันชาวทมิฬ โดยเฉพาะต่อชาวทมิฬที่อังกฤษนำเข้ามาจากอินเดีย
จนเรื่องนี้ ได้นำไปสู่ปัญหาสงครามกลางเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 1983-2009
ตลอดเวลาดังกล่าว ก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่ศรีลังกา ไม่ต่ำกว่า 6.6 ล้านล้านบาท
และสงครามกลางเมือง ก็ทำให้รายจ่ายด้านการป้องกันประเทศของรัฐบาลศรีลังกาเพิ่มขึ้นอย่างมาก
รัฐบาลพยายามแก้เกมอีกครั้ง ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ
เช่น วางแผนพัฒนาธุรกิจหลายแห่งทั่วทั้งเกาะ
รวมไปถึงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดเม็ดเงินเข้ามายังประเทศ
รวมไปถึงการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน
ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามกลางเมืองกว่า 2 ทศวรรษ
ทำให้ GDP ของศรีลังกากลับมาเติบโตในระดับ 8-9% ในช่วงปี 2010-2012
จนทำให้ดูเหมือนว่า วันวานที่ชื่นมื่นทางเศรษฐกิจของศรีลังกา ทำท่าจะกลับมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเศรษฐกิจในครั้งนี้
ต้องแลกมาด้วยการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล
หนี้ต่างประเทศต่อ GDP ของศรีลังกา ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจาก 42% มาอยู่ที่ 54% ในปี 2014 และไต่ระดับขึ้นมาอยู่ที่ 61% ในปี 2020
ภาระหนี้สินที่มากขึ้น ทำให้รัฐบาลเริ่มประสบปัญหาการจ่ายคืนเงินกู้ให้แก่เจ้าหนี้ โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินจากจีนตั้งแต่ปี 2005-2015 จนผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องขายท่าเรือฮัมบันโตตา ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้า ให้รัฐบาลจีนไปบริหาร
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของศรีลังกา
เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวมีสัดส่วนกว่า 12% ของ GDP
จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังศรีลังกา
เพิ่มจาก 448,000 คนในปี 2009 มาอยู่ที่ 2.3 ล้านคนในปี 2018
แต่ภาคการท่องเที่ยวของศรีลังกาที่ทำท่าจะไปได้สวย กลับต้องมาสะดุด เนื่องจากในปี 2019 เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้นในประเทศ และซ้ำเติมด้วยวิกฤติโควิด 19 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาย่ำแย่ลงไปอีก
และยังตามมาด้วยปัญหาสำคัญอีกเรื่อง
คือเงินสำรองระหว่างประเทศก็ค่อย ๆ ร่อยหรอลง จากในระดับ 330,000 ล้านบาท ในปี 2018
เหลือเพียงแค่ 102,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2021
การลดลงของเงินสำรองระหว่างประเทศนั้น ส่งผลทำให้ประเทศมีเงินไม่เพียงพอ ในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
ทำให้รัฐบาลได้กำหนดข้อจำกัดในการนำเข้า เพื่อพยายามไม่ให้ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงไปมากกว่านี้
แต่พอทำแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้สินค้าหลายอย่างในประเทศเริ่มขาดแคลน ราคาสินค้าในประเทศพุ่งสูงขึ้น ประชาชนจำนวนมากต้องรอคิวเพื่อซื้ออาหารและยาเป็นเวลาหลายชั่วโมง
ขณะที่ค่าเงินรูปีศรีลังกาต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงกว่า 38% นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
ค่าเงินรูปีที่อ่อนค่า ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าเชื้อเพลิงของประเทศ
จนปั๊มน้ำมันหลายแห่งในกรุงโคลัมโบและชานเมืองต้องปิด เพราะไม่มีน้ำมันที่จะขาย
แต่ที่แย่กว่านั้นคือ การขาดเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในประเทศ ทำให้รัฐบาลถึงขนาดต้องดับไฟในหลายพื้นที่ของประเทศในบางเวลา ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวศรีลังกาจำนวนมาก
จากอดีตที่เคยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็ง และนำหน้าหลายประเทศในเอเชีย
มาวันนี้ ศรีลังกากำลังเจอมรสุมด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก หนักสุดในรอบหลายทศวรรษ
ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นบทเรียนให้หลายประเทศได้นำไปศึกษา
เพื่อป้องกันและไม่ให้เดินตามเส้นทางที่ศรีลังกากำลังเจออยู่ ในวันนี้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG?locations=LK
-https://en.wikipedia.org/wiki/Sri_Lanka
-https://www.thenationalnews.com/world/asia/sri-lanka-hands-over-port-to-china-to-pay-off-debt-1.684606
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Sri_Lanka
-https://www.business-standard.com/article/current-affairs/sri-lanka-sees-a-tourism-boom-with-highest-holidaymakers-from-india-122010400470_1.html
-https://knoema.com/atlas/Sri-Lanka/topics/Tourism/Travel-and-Tourism-Total-Contribution-to-GDP/Contribution-of-travel-and-tourism-to-GDP-percent-of-GDP
-https://www.voanews.com/a/sri-lanka-imposes-power-cuts-as-cash-crisis-deepens/6454357.html?fbclid=IwAR0ZJuE99Hz_pHg25keoMgjz4dt__8qTh88UHFO5LmVf4vBKLqWwI7lZH_k
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.