กรณีศึกษา เกม Ragnarok

กรณีศึกษา เกม Ragnarok

6 เม.ย. 2018
กรณีศึกษา เกม Ragnarok / โดย ลงทุนแมน
Ragnarok เกมออนไลน์เปิดตัวในไทยเมื่อ 15 ปีก่อน
2 ปีก่อนมีข่าว Ragnarok กลับมาเปิดตัวในประเทศไทย
13 ปีที่หายไปเกิดอะไรขึ้นกับ Ragnarok
แล้วเจ้าของบริษัท Ragnarok คือใคร รายได้เท่าไร
ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
แรกเริ่มแท้จริงแล้ว Ragnarok เป็นการ์ตูนชื่อดังมาก่อนซึ่งเขียนโดย Lee Myung-jin
แต่เมื่อทาง Gravity บริษัทเกมของเกาหลีเกิดความสนใจจึงได้ตกลงกับผู้เขียนในการนำมาทำเป็นเกม
ในปี 2002 Gravity ได้เปิดให้บริการ Ragnarok อย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรกในประเทศเกาหลีใต้ในรูปแบบของ International server
หลังจากเปิดตัวไม่นาน Ragnarok ได้มีผู้เล่นหลั่งไหลจากทั่วโลกเข้ามา รวมถึงคนไทยเราเองด้วย
และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นชื่อเสียงของคนไทยในวงการเกมออนไลน์เช่นกัน (ถ้าใครเคยเล่นคงจะพอทราบว่าคนไทยเราทำอะไรไว้บ้าง)
กระแสยังไม่หยุดแต่เพียงเท่านั้น
ผู้เล่นทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ทาง Gravity ต้องเพิ่มเซิฟเวอร์
ไม่นานนักปัญหาในการเชื่อมต่อเซิฟเวอร์ได้เกิดขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่าในสมัยนั้นถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก
1 ปีต่อมาบริษัท Asiasoft ของคนไทยได้เห็นช่องโหว่นั้น จึงเสนอตัวเป็นตัวแทนในการจัดทำเซิฟเวอร์สำหรับประเทศไทยเป็นครั้งแรก
Asiasoft เป็นที่ปลาบปลื้มของคนไทยในสมัยนั้นมากเนื่องจากไม่เพียงแต่ Ragnarok แต่รวมถึงเกม Gunbound, Maple story เป็นต้น
Ragnarok ได้รับความนิยมอย่างมาก จนถึงขนาดมีนิตยสารเกมสำหรับ Ragnarok โดยเฉพาะ
แม้ว่าเกม Ragnarok จะเป็นที่นิยมในฝั่งเอเชีย แต่ในทางยุโรป หรือ อเมริกา กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ในปี 2005 Gravity ได้เป็นบริษัทเกม บริษัทแรกของเกาหลีที่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกา (NASDAQ) ซึ่งดูเหมือนว่าบริษัทกำลังไปด้วยดี
แต่ช่วงเวลาเลวร้ายของ Ragnarok ก็มาถึง
จำนวนผู้เล่นของ Ragnarok พุ่งขึ้นสูงสุดเมื่อต้นปี 2005 แต่เริ่มลดลงเรื่อยๆเนื่องจาก ขาดการปรับปรุงและการพัฒนา รวมถึงการดูแลผู้เล่นที่ดี
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นตามมาทันที นั่นคือการเกิดขึ้นของเซิฟเวอร์เถื่อน เนื่องจากมีการดูแลผู้เล่นที่ดีกว่า
ส่งผลให้ลูกค้าเดิมค่อยๆ ทยอยหายไป ตัวแทนในแต่ละประเทศพากันปิดให้บริการ
ในปี 2008 GungHo Online Entertainment ซึ่งเดิมเป็นตัวแทนในการให้บริการ Ragnarok ในญี่ปุ่นได้เข้าเทคโอเวอร์บริษัท Gravity ไป เนื่องจากยังเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพของเกมนี้อยู่
อีก 4 ปีถัดมา Gravity ได้เปิดตัว Ragnarok Online 2 หวังว่าจะดึงผู้เล่นจาก Ragnarok เดิมให้ย้ายไป
ผลกลับผิดคาด Ragnarok Online 2 ล้มเหลวภายในเวลาอันรวดเร็วเนื่องจากตัวเกมขาดเสน่ห์ของ Ragnarok โดยสิ้นเชิง
การหยุดให้บริการในหลายๆประเทศลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยการขาดทุนที่มหาศาล
จากราคาหุ้น Gravity (GRVY) ที่ 94 เหรียญในปี 2005 เหลือเพียง 3 เหรียญในต้นปี 2016
ใครๆก็คิดว่าบริษัทน่าจะถึงจุดจบแล้ว
แต่จุดเปลี่ยนได้มาถึงอย่างรวดเร็ว
ในปี 2016 Gravity ได้ปรับกลยุทธ์โดยการพยายามที่จะดำเนินการด้วยตัวบริษัทเองในแต่ละประเทศเพื่อแก้ไขต้นตอของปัญหาที่เรื้อรังมานาน
ครึ่งปีหลัง Gravity ได้ยกเลิกสัญญากับตัวแทนของฝั่งมาเก๊า ไต้หวัน ฮ่องกง แล้วเข้าจัดการเอง
เพียงแค่ 3 เกาะนี้ทำรายได้ให้มากถึง 434 ล้านบาท
ส่วนในไทยเราเองก็ได้เปลี่ยนมือจาก Asiasoft ไปให้ Electronics Extreme แล้วทำการเปิดตัวใหม่
สิ้นปี 2016 บริษัท Gravity พลิกมีกำไรจากที่ครึ่งปีแรกขาดทุนมากถึง 97 ล้านบาท
รายได้ของ Gravity
ปี 2015 รายได้ 1,045 ล้านบาท ขาดทุน 500 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 1,506 ล้านบาท กำไร 7 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 1,476 ล้านบาท กำไร 225 ล้านบาท (ครึ่งปี)
ราคาหุ้นปัจจุบันขึ้นมาที่ 98.5 เหรียญ
ถ้าซื้อหุ้น Gravity เมื่อ 2 ปีที่แล้วด้วยเงิน 100,000 บาท ปัจจุบันเราจะมีเงินมากถึง 3.3 ล้านบาท
เรื่องนี้ทำให้เราคิดได้ว่า
ไม่มีสิ่งไหนที่จะดีไปตลอด หรือ แย่ไปตลอด
ในช่วงที่เราดีสุดๆเราก็มีโอกาสที่จะเสื่อมได้ถ้าประมาท
หรือช่วงที่เราแย่ที่สุดเราก็มีโอกาสที่จะพลิกกลับมาได้ถ้าตั้งใจ
ในเรื่องนี้พอบริษัททำพลาด ราคาหุ้นของบริษัท Gravity จาก 94 เหรียญ ลดลงไปเหลือ 3 เหรียญ
และเมื่อบริษัทกลับมาสำเร็จ ราคาหุ้นก็กลับมาที่ 98.5 เหรียญ
ชีวิตคนเราก็อาจจะเหมือนราคาหุ้น มีวันที่ดี และ มีวันที่แย่
ถ้าตอนนี้หุ้นชีวิตเราตกก็ไม่เป็นไร ถ้าหาหนทางแก้ไข พัฒนา สักวันมันก็จะกลับขึ้นไปที่เดิมเหมือนบริษัท Gravity..
----------------------
<ad> Ragnarok มีหุ้น แต่ลงทุนแมนมีหนังสือลงทุนแมน 2.0 หาซื้อแล้วได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
หรือติดตามได้ฟรีที่ แอพลงทุนแมน https://www.longtunman.com/app, instagram, twitter, youtube, line โดยค้นหา ไอดีชื่อ longtunman ในแพลตฟอร์มนั้น
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.