กรณีศึกษา FUJIFILM ทำอย่างไร ให้ไม่ล้มเหมือน KODAK

กรณีศึกษา FUJIFILM ทำอย่างไร ให้ไม่ล้มเหมือน KODAK

18 เม.ย. 2019
กรณีศึกษา FUJIFILM ทำอย่างไร ให้ไม่ล้มเหมือน KODAK / โดย ลงทุนแมน
หากให้ยกตัวอย่างของ Disruption ในโลกธุรกิจ
หนึ่งในเรื่องยอดนิยมจะมีเรื่องของ Kodak และ Fujifilm
ในอดีต Kodak และ Fujifilm ต่างก็เป็นบริษัทฟิล์มระดับต้นๆ ของโลก
แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น และโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล
ธุรกิจฟิล์มที่เคยรุ่งเรืองได้กลายเป็นสินค้าที่ไม่มีคนสนใจ
และเรื่องนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Kodak ล้มละลาย..
ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีก่อน..
ในปี 2000 ธุรกิจฟิล์มถ่ายภาพถือเป็นรายได้หลักของ Kodak และ Fujifilm
ธุรกิจฟิล์มมีสัดส่วนเป็น 72% จากรายได้ทั้งหมดของ Kodak
ธุรกิจฟิล์มมีสัดส่วนเป็น 60% จากรายได้ทั้งหมดของ Fujifilm
หลังจากนั้นไม่นานตลาดฟิล์มก็หดตัวลงอย่างรวดเร็ว
จนทำให้ Kodak ประกาศล้มละลายในปี 2012..
หากเรามาเปรียบเทียบผลประกอบการของทั้ง 2 บริษัท
ปี 2000 Kodak มีรายได้ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2010 Kodak มีรายได้ 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 49%
ปี 2000 Fujifilm มีรายได้ 1.4 ล้านล้านเยน
ปี 2010 Fujifilm มีรายได้ 2.2 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 57%
หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่า Kodak ล้มเพราะไม่ปรับตัว
cr.businessinsider
จริงๆ แล้ว Kodak คือ ผู้ที่พัฒนากล้องดิจิทัลได้ตั้งแต่ปี 1975
และในช่วงที่ธุรกิจฟิล์มกำลังจะถดถอย Kodak ก็สามารถครองตลาดกล้องดิจิทัลในสหรัฐอเมริกาได้ถึง 20%
อย่างไรก็ตาม กล้องดิจิทัลกลับไม่ได้ทำกำไรให้กับ Kodak
เหตุผลแรกคือ กล้องดิจิทัลมีอัตรากำไรต่ำ และเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง
ต่างจากธุรกิจฟิล์มที่กำไรสูง และมีผู้เล่นไม่กี่ราย
ประกอบกับการเติบโตของสมาร์ตโฟน และโทรศัพท์มือถือที่มีกล้องถ่ายรูป
จึงทำให้ความนิยมของกล้องดิจิทัลลดลงไปมาก
ธุรกิจกล้องดิจิทัลของ Kodak จึงเป็นตัวที่สร้างผลขาดทุนสะสมให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม
ในขณะที่ Kodak รายได้ลดลงครึ่งหนึ่ง และมีผลขาดทุนสะสม
Fujifilm กลับมีรายได้เพิ่มขึ้น
Fujifilm ทำได้อย่างไร?
การที่ตลาดฟิล์มหดตัวลงก็ส่งผลกระทบร้ายแรงกับ Fujifilm เช่นเดียวกัน
แต่สิ่งที่ Fujifilm ทำก็คือการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่น
ปัจจุบันรายได้ของ Fujifilm มาจาก 3 ธุรกิจหลัก
43.1% มาจากธุรกิจด้านเอกสาร (Document Solution) ประกอบด้วย การจำหน่าย และบริการเครื่องพิมพ์อเนกประสงค์สำหรับสำนักงาน
41.2% มาจากธุรกิจด้านสุขภาพและวัสดุ (Healthcare & Material Solution) ประกอบด้วย ธุรกิจการวินิจฉัย และการรักษาโรค เครื่องสำอาง ฟิล์มชนิดพิเศษ
15.7% มาจากธุรกิจด้านการถ่ายภาพ (Imaging Solution) ซึ่งประกอบด้วย สินค้า และบริการสำหรับการถ่ายภาพ
cr.fujifilm
แม้จะดูเหมือนว่าตอนนี้ธุรกิจหลักของ Fujifilm จะอยู่ที่ธุรกิจด้านเอกสาร แต่แนวโน้มรายได้ของส่วนนี้กลับลดลงเรื่อยๆ
ตรงกันข้ามกับธุรกิจสุขภาพและวัสดุ ที่กำลังเติบโตขึ้นทุกปี
หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วบริษัท Fujifilm ที่ขายฟิล์มเป็นหลักมาทำธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างไร
เริ่มจากธุรกิจด้านเอกสาร
Fujifilm มีการร่วมทุนกับบริษัทเครื่องถ่ายเอกสาร Xerox ก่อตั้ง Fuji Xerox ในปี 1962
ต่อมาในปี 2004 Fujifilm เริ่มเห็นแนวโน้มขาลงของฟิล์ม ซึ่งเป็นสินค้าทำเงินหลักของตน จึงประกาศแผน VISION 75 โดยมีเป้าหมายว่า จะช่วย Fujifilm จากหายนะ และทำให้ Fujifilm เป็นบริษัทชั้นนำด้วยยอดขาย 2-3 ล้านล้านเยนต่อปี
อย่างแรกที่ Fujifilm ทำก็คือการลดการผลิตฟิล์ม และให้ความสำคัญกับฝ่ายวิจัย และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
Fujifilm มองว่ารายได้จากกล้องดิจิทัลไม่น่าจะเข้ามาทดแทนฟิล์มได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีกำไรต่ำ ไม่เหมือนกับฟิล์มถ่ายรูป
Fujifilm จึงเลือกกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่น
ที่น่าสนใจคือ Fujifilm เลือกพัฒนาจากเทคโนโลยีที่ตนมีอยู่ และนำไปจับกับแนวโน้มตลาดในอนาคต
ตัวอย่างเช่น Fujifilm มองว่าอนาคตจอ LCD จะได้รับความนิยม
จึงพัฒนาฟิล์มถ่ายรูปเดิม ให้เป็นฟิล์มตัดแสงสะท้อนที่ใช้กับจอ LCD
จนทุกวันนี้สามารถครองตลาดได้ถึง 70%
ธุรกิจเครื่องสำอางของ Fujifilm ก็พัฒนามาจากฟิล์มถ่ายรูปเช่นกัน
ด้วยประสบการณ์การผลิตฟิล์มที่ยาวนาน ทำให้ Fujifilm คุ้นเคยกับ เจลาติน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของฟิล์มถ่ายรูปเป็นอย่างดี
เจลาติน เป็นโปรตีนที่สังเคราะห์มาจากคอลลาเจน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเรื่องความยืดหยุ่น และความกระจ่างใสของผิว
หลังจากการพัฒนาต่อยอด
ในปี 2007 Fujifilm ก็ออกเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ Astalift ได้สำเร็จ
cr.astalift
นอกจากนั้น Fujifilm ยังใช้กลยุทธ์การควบรวมบริษัท เพื่อนำเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญมารวมกับเทคโนโลยีที่ตนมีอยู่ เพื่อต่อยอดเป็นสิ่งใหม่ๆ เช่น เครื่อง X-Ray และ การวิจัยยารักษาโรค
แล้วตอนนี้ผลประกอบการของ Fujifilm เป็นอย่างไร?
ปี 2016 รายได้ 712,296 ล้านบาท กำไร 33,699 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 672,280 ล้านบาท กำไร 38,072 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 704,474 ล้านบาท กำไร 40,732 ล้านบาท
พออ่านมาถึงตรงนี้ เราคงเห็นว่าทั้ง Kodak และ Fujifilm เจอเรื่อง Disruption เหมือนกัน
แต่สิ่งที่ทำให้ทั้ง 2 บริษัทนี้มีจุดจบที่ต่างกันก็คือ
Kodak เลือกที่จะยึดมั่นในธุรกิจการถ่ายภาพเหมือนเดิม
ส่วน Fujifilm กลับมองว่าธุรกิจการถ่ายภาพกำลังเป็นเหมือนกับระเบิดเวลา
จึงเลือกพัฒนา และขยายตลาดไปยังธุรกิจอื่น
แน่นอนว่าการทิ้งฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของตนไม่ใช่เรื่องง่าย..
แต่หากเราไม่สามารถตัดใจ และเดินหน้าต่อแบบ Fujifilm
เราก็คงต้องถูกตัดจบไปแบบ Kodak..
----------------------
ในปี 2018 ธุรกิจกล้องถ่ายรูปญี่ปุ่น มีรายได้เท่าไหร่บ้าง ดูได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5c9321c36a54990bdaf7ad91
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.