นมจากพืชที่ Starbucks เลือกใช้ กำลังจะ IPO

นมจากพืชที่ Starbucks เลือกใช้ กำลังจะ IPO

30 เม.ย. 2021
นมจากพืชที่ Starbucks เลือกใช้ กำลังจะ IPO /โดย ลงทุนแมน
การเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพืช กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนทำให้ร้านอาหารและร้านกาแฟต่าง ๆ ได้เพิ่มเมนูประเภทนี้เข้าไปเพื่อรองรับลูกค้า
โดย Starbucks ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่มีนมจากพืชหลากหลายชนิดให้เลือก สำหรับเมนูกาแฟใส่นม
และเมื่อไม่นานมานี้ Starbucks ได้เพิ่มตัวเลือกนมจากพืชชนิดใหม่เข้าไป
นั่นก็คือ “นมข้าวโอ๊ต” ซึ่งมีเพียงยี่ห้อเดียว ที่ Starbucks เลือกจับมือเป็นพันธมิตร
คือแบรนด์ Oatly ที่ปัจจุบันถูกประเมินมูลค่าบริษัทไว้ราว 3.1 แสนล้านบาท
แล้วนมข้าวโอ๊ตยี่ห้อนี้มีความเป็นมาอย่างไร
ทำไมถึงได้รับความนิยม ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
อาหารที่ทำมาจากพืช เป็นทางเลือกในการบริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น
เพราะนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพแล้ว กระบวนการผลิตยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป
แน่นอนว่าฝั่งผู้ผลิต ก็ต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพืช
ที่สามารถทดแทนเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้
หนึ่งในนั้นก็คือการหาสินค้าเพื่อมาทดแทนผลิตภัณฑ์นม ที่เป็นผลผลิตจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
โดยนมจากพืชในช่วงแรก จะเป็นนมถั่วเหลือง และต่อมาได้มีการพัฒนานมจากพืชชนิดใหม่ ๆ
เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
ที่โดดเด่นที่สุด ก็คือนมอัลมอนด์ เพราะด้วยกลิ่นที่หอมหวาน และรสสัมผัสที่ละมุนกว่า
ทำให้ในสหรัฐอเมริกา นมอัลมอนด์เป็นเจ้าตลาดนมจากพืช แทนที่นมถั่วเหลืองมาได้ 8 ปีแล้ว
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีนมจากพืชชนิดหนึ่ง
ที่กลายมาเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว และยังคงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดนมจากพืชมาอยู่ในอันดับที่ 2 แซงนมถั่วเหลืองได้ นั่นก็คือ “นมข้าวโอ๊ต”
และความนิยมในนมข้าวโอ๊ตนี้ ก็มีที่มาจากแบรนด์หนึ่ง ที่ชื่อว่า “Oatly”
Oatly เป็นแบรนด์จากประเทศสวีเดน ก่อตั้งในปี 1994
โดยนักวิทยาศาสตร์อาหารที่ชื่อว่าคุณ Rickard Öste และคุณ Björn Öste ที่เป็นน้องชาย
จุดเริ่มต้นทั้งหมด มาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Lund University ในประเทศสวีเดน
ที่ได้คิดค้นเทคโนโลยีที่สามารถสกัดข้าวโอ๊ต ซึ่งมีกากใยสูงมาก ให้กลายเป็นน้ำนมได้
Oatly จึงได้ร่วมจดสิทธิบัตรและพัฒนาต่อยอด จนมาเป็นธุรกิจที่ขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม
ทั้งนมสด โยเกิร์ต ครีมสด และไอศกรีม ที่ไม่มีวัตถุดิบจากสัตว์เลย
หรือเรียกได้ว่าเป็นวีแกน 100% และทุกผลิตภัณฑ์
ล้วนทำมาจากน้ำนมข้าวโอ๊ต ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแรกของโลก
นอกจากจุดแข็งที่สำคัญอย่างเทคโนโลยีในการสกัดนมข้าวโอ๊ต และรสชาติของผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจคนส่วนใหญ่แล้ว
การตลาดของ Oatly ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยการวางภาพลักษณ์ให้เป็นแบรนด์ที่ดูสนุก บวกกับการสื่อสารที่ใช้ภาษากวนนิด ๆ จึงครองใจกลุ่มลูกค้าหลักอย่างชาว Millennials และ Gen Z ได้เป็นอย่างดี
จนในปี 2017 Oatly ก็ได้เพิ่มความท้าทายให้ตัวเอง ด้วยการเข้าไปบุกตลาดในสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ และถือเป็นนมข้าวโอ๊ตยี่ห้อแรก ที่มีขายในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Oatly ก็ได้นำผลิตภัณฑ์ทุกชนิดเข้ามาขาย ผ่านช่องทางทั้งในร้านค้าและออนไลน์
แต่สิ่งที่ทำให้ Oatly เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ กลับไม่ได้พึ่งพาเพียงกลุ่มลูกค้ารายบุคคล
เพราะ Oatly เลือกขยายตลาดด้วยกลยุทธ์ในการ “โตไปกับร้านกาแฟ”
แม้ว่ามีนมจากพืชมากมายที่ใช้ดื่มเพื่อทดแทนนมจากสัตว์ได้ แต่ในการใช้เพื่อประกอบอาหาร นมจากพืช ยังไม่สามารถทดแทนนมจากสัตว์ได้ดีเท่าไรนัก
ยกตัวอย่างเช่น ร้านกาแฟ ที่จะมีปัญหาหลักเวลาใช้นมจากพืช คือเมื่อตีฟองนม จะไม่สามารถทำลัตเตอาร์ตได้แบบตอนใช้นมวัว รสชาติและรสสัมผัสที่ได้ก็ไม่เนียนนุ่ม แถมบางครั้งยังมีกลิ่นธัญพืชปนเข้าไปด้วย
Oatly เห็นถึงจุดอ่อนตรงนี้ เลยพัฒนาผลิตภัณฑ์นมข้าวโอ๊ตของตัวเอง ให้สามารถใช้เทลัตเตอาร์ตได้สวยงามพอ ๆ กับใช้นมวัว รวมถึงช่วยส่งเสริมให้รสสัมผัสและรสชาติของกาแฟนมดียิ่งขึ้นไปอีก
จนออกมาเป็นไลน์ผลิตภัณฑ์นมที่ใช้ชื่อว่า “Barista Edition”
ส่วนกลยุทธ์ที่ใช้ในการเข้าไปเจาะตลาด ก็เป็นวิธีที่แสนธรรมดา แต่มีประสิทธิภาพสูง
นั่นคือส่งสินค้าไปให้ร้านกาแฟทดลองใช้ โดยจะเน้นร้านกาแฟที่เป็นคลื่นลูกที่ 3
หรือคือร้านกาแฟที่ใช้เมล็ดคุณภาพสูง ราคาพรีเมียม
ซึ่งกระแสตอบรับจากทั้งบาริสตา รวมถึงลูกค้าของร้านกาแฟ ก็ดีมากทีเดียว
เพราะอย่างในปี 2016 หรือ 1 ปีก่อนที่ Oatly จะเข้ามาเจาะตลาดสหรัฐอเมริกา
เชนร้านกาแฟคลื่นลูกที่ 3 ชื่อดังในสหรัฐอเมริกา อย่าง Intelligentsia
ได้เพิ่มนมข้าวโอ๊ตจาก Oatly เป็นทางเลือกให้ลูกค้าทั้ง 15 สาขาทั่วประเทศ
แต่นั่นถือเป็นความสำเร็จเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า
แน่นอนว่าคือเชนร้านกาแฟพรีเมียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Starbucks
แล้วฝันของ Oatly ก็เป็นจริง เพราะเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Starbucks ได้ตกลงเป็นพันธมิตรกับ Oatly โดย Starbucks ได้ให้ทุกสาขาในสหรัฐอเมริกา รวมถึงจีน ใช้นมข้าวโอ๊ตเฉพาะของ Oatly เท่านั้น
และด้วยกระแสความนิยมของ Oatly ก็ได้ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย
โดยในปี 2019 สามารถระดมทุนได้ 1,296 ล้านบาท จาก Venture Capital รายหนึ่ง
และในปี 2020 Oatly สามารถระดมทุนได้ 6,260 ล้านบาท
ซึ่งเป็นการลงทุนผ่าน Private Fund ของ Blackstone
ที่มีเหล่าคนดังอย่าง Oprah Winfrey, Natalie Portman, Jay-Z
หรือแม้แต่อดีต CEO ของ Starbucks อย่าง Howard Schultz ก็ได้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย
โดยมีการประเมินว่า มูลค่าธุรกิจหลังการระดมทุนรอบนี้อยู่ที่ 62,600 ล้านบาท
และเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา Oatly ก็ได้ยื่นเอกสาร Filing เพื่อเตรียม IPO เข้าตลาด Nasdaq
โดยมูลค่าหลัง IPO แล้ว ถูกประมาณการไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้นจนสูงถึง 313,000 ล้านบาท
เราลองมาดูงบการเงินของ Oatly ที่เปิดเผยในเอกสาร Filing กัน
ปี 2019 รายได้ 6,385 ล้านบาท ขาดทุน 1,127 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 13,177 ล้านบาท ขาดทุน 1,878 ล้านบาท
แม้จะยังขาดทุนอยู่ แต่รายได้ก็สามารถเติบโตได้เป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ซึ่งทางผู้บริหารมองว่า หากขยายตลาดได้มากขึ้น
บริษัทก็จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิต จนพลิกมามีกำไรได้
ซึ่งสิ่งที่ผู้บริหารคิด ก็ดูมีโอกาสเป็นไปได้สูง ทั้งโอกาสจากการเข้าไปทำตลาดในประเทศใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น
จากที่ในปัจจุบัน Oatly มีขายอยู่ใน 20 ประเทศทั่วโลก
รวมถึงโอกาสในตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ความนิยมในนมข้าวโอ๊ตยังคงเติบโตสูง
อย่างในปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกามียอดขายนมข้าวโอ๊ตทั้งหมด 6,678 ล้านบาท
คิดเป็นการเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 3.5 เท่า ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในบรรดานมจากพืชทั้งหมด
ในขณะที่เจ้าตลาดเดิมอย่างนมอัลมอนด์และนมถั่วเหลืองที่ตกไปอยู่อันดับ 3 กลับไม่เติบโตเลย
และถ้าถามว่า Oatly มีโอกาสเติบโตไปกับกระแสนมข้าวโอ๊ตได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
คิดว่าคำตอบ คงดูได้จากความแข็งแกร่งของแบรนด์
เพราะชาวอเมริกันหรืออีกหลายประเทศต่อจากนี้
ได้รู้จักกับนมข้าวโอ๊ตเป็นครั้งแรกจาก Oatly
และ Oatly ได้กลายเป็นตัวแทนของนมข้าวโอ๊ตไปเรียบร้อย
จนกลายมาเป็นคำติดปาก ที่คล้ายกับคนไทยเรียกมาม่าแทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไปแล้วนั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://finance.yahoo.com/news/oatly-reveals-growing-losses-revenue-205927307.html
-https://www.marketwatch.com/story/oatly-backed-by-oprah-and-blackstone-files-for-ipo-11618881002?mod=mw_latestnews
-https://www.cnbc.com/2021/02/23/plant-based-milk-company-oatly-confidentially-files-for-ipo.html
-https://www.fooddive.com/news/oatly-sold-4214m-worldwide-last-year/598696/
-https://www.fooddive.com/news/oat-milk-surges-to-second-most-popular-in-plant-based-dairy/586010/
-https://www.oatly.com/int/about-oatly
-https://www.crunchbase.com/organization/oatly
-https://www.sec.gov/Archives/edgar/data/1843586/000119312521121323/d123209df1.htm
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.